นิตยสาร WhO?
เรื่อง : ว.วชิรเมธี ภาพ : กองบรรณาธิการ
วิธีพาหัวใจกลับบ้าน
ธรรมนำทาง…อุ๊-ช่อผกา วิริยานนท์
อดีตผู้ประกาศข่าวและพิธีกรชื่อดัง ช่อผกา วิริยานนท์ ที่หันไปเป็นอาสาสมัคร ช่วยงานธรรมะของเสถียรธรรมสถาน ชีวิตที่ผ่านมาแม้จะมีบุคคลสำคัญระดับประเทศ เสนอตำแหน่งอนุภรรยา พร้อมเงินสิบล้านให้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่เธอรู้ว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เพราะความสุขคนเรานั้นไม่ได้อยู่เพื่อเงิน น่ันเป็นปัญหามากมายที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเธอ แต่บางครั้งทำให้จิตไม่นิ่ง ดังนั้นเธอจึงมีคำถาม (ปุจฉา) ถึง พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ว่า “จะดูแลจิตของตัวเองที่ไม่นิ่งอย่างไร ขณะที่ใจไม่เคยว่าง”
พระมหาวุฒิชัย วิสัชนา
การบริหารจิตให้นิ่งต้องรู้จักธรรมชาติของจิตก่อนว่า ปกตินั้นจิตทำงานอย่างไร เมื่อเข้าใจธรรมชาติของจิตแล้วก็จะดูแลจิตให้อยู่ในอำนาจได้
ความสามารถบริหารจิตให้อยู่ในอำนาจนั้นเป็นคุณสมบัติชนิดหนึ่งที่ทุกคนฝึกได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ความจริงข้อนี้ จึงปล่อยตัวเองให้ตกอยู่ในอำนาจของจิต ชักลากไปอย่างน่าสมเพชเวทนาโดยไม่รู้สึกตัว
ธรรมชาติของนิ่งนั้นมักฟุ้งไปตามอารมณ์ที่ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าอยากให้จิตนิ่งต้องหาที่ “เกาะ” ให้จิต เพราะถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ จิตก็จะหาที่เกาะเอง
คนที่ไม่รู้ธรรมชาติของจิตก็ปล่อยจิตให้หาที่เกาะเอง จิตบางคนก็ไปเกาะอยู่กับโทรศัพท์ บางคนเกาะอยู่กับเพลง เงิน ธุรกิจ อำนาจ กามารมณ์ การเมือง อาหาร อินเทอร์เน็ต และเฟซบุ๊ก แต่ที่สำคัญคือ การนำจิตไปเกาะกับ “ใครสักคน” จนจิตย้ายจากตัวเราไปอยู่กับเขาโดยไม่รู้สึกตัว พอคนๆ นั้นเปลี่ยนแปลงไป จิตใจเราก็แตกสลาย เกิดผลข้างเคียงตามมาคือ “จิตตก” ครั้นจิตตก ชีวิตก็ตกตาม จับอะไรทำก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง พอจิตเสื่อม กายก็ตกอยู่ในอาการเดียวกัน จิตเสีย กายก็เสีย เพราะ “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว”
ธรรมชาติของจิตต้องการที่เกาะดังกล่าว ถ้าเรามีที่เกาะดีๆ ให้จิตได้เกาะ ได้พำนัก ได้พักพิง คุณภาพของจิตก็จะดีขึ้น ในสมัยพุทธกาลเวลาพระอริยบุคคลเจอกันท่านจะถามว่า “ท่านอยู่ด้วยพรหมวิหารอะไร” คำว่า “พรหมวิหาร” ก็คือ “วิหาร หรือที่พำนักแห่งจิต” นั่นเอง หมายความว่า ในทุกขณะจิตต้องหาที่ให้จิตได้พำนัก ได้พักพิง ถ้าเราไม่หาให้ จิตจะหาเองด้วยการฟุ้งไปยังเรื่องต่างๆ ร้อยแปดพันประการตามช่วงเวลานั้นจะมีเรื่องใดเข้ามาให้สนใจ หากไม่เชื่อก็ลองนั่งนิ่งๆ หลับตาแล้วสังเกตดูว่า จิตกำลังฟุ้งไปเรื่องอะไรบ้าง
แม้เพียงหนึ่งนาทีจะเห็นชัดเจนว่าจิตไม่นิ่ง แต่ฟุ้งไปสารพัดเรื่อง ทีนี้ถ้าไม่รู้วิธีทำให้จิตนิ่ง เราจะเหนื่อย แม้บางคนหลับไปแล้ว พอตื่นขึ้นมาก็ยังรู้สึกเหนื่อย เพราะความฝัน จิตยังคงว้าวุ่นทำงานด้วยการปรุงเป็นความฝันสารพัดเรื่อง คนที่ไม่รู้วิธีที่จะพาจิตไปพักผ่อน จึงต้องใช้ชีวิตด้วยความเหนื่อยคือ เหนื่อยกาย และเหนื่อยภายใน คือตกเป็นทาสของจิตที่คิดเองตลอดเวลา คนที่หยุดจิตไม่ได้ก็อาจมีอาการทางจิตประสาท
ในพุทธศาสนาท่านสอนวิธีหาที่พำนักให้จิตไว้สองแบบ เรียกว่าเป็นวิธี “พาหัวใจกลับบ้าน” แต่ศัพท์โบราณท่านเรียกว่า “กรรมฐาน” แปลว่า “การงานของหัวใจ” มี 2 แบบ คือ 1. สมาธิ 2. วิปัสสนา
แบบที่ 1 ก็คือ การฝึกสมาธิด้วยการตามดูลมหายใจอยู่เนืองๆ จนจิตคุ้นเคยการอยู่กับลมหายใจ โรคฟุ้งซ่านก็จะหายไปเอง
แบบที่ 2 ก็คือ การเจริญสติด้วยการเติม “ความรู้สึก” ตัวลงในทุกกิจกรรมของชีวิตจน “กายอยู่กับกิจ” และ “จิตอยู่กับงาน” เมื่อฝึกจนชิน จิตกับกายอยู่ในที่เดียวกัน โรคฟุ้งซ่านก็หาย ไปโดยอัตโนมัติ
คนที่พาหัวใจกลับบ้านได้ด้วยวิธีใดก็ตาม จะเห็นผลชัดเจนคือ สุขภาพจิตดีขึ้นทันตา ชีวิตมีแต่ความสดชื่นรื่นรมย์ มีความสุขทุกวัน อยู่ท่ีไหนที่นั่นก็เป็นสถานอันรื่นรมย์ กลายเป็นคนสุขง่ายทุกข์ยากได้อย่างไม่น่าเชื่อ ลองปฏิบัติดูเถิดแล้วจะเห็นผลด้วยตัวเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น