“เอสซีจี เคมิคอลส์” ผนึกจังหวัดระยองรวมน้ำใจ สู้ภัยน้ำท่วม
รวมพลังมวลชน ปั้นลูกบอลจุลินทรีย์ 1 ล้านลูก!
เอสซีจี เคมิคอลส์ รักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมกับจังหวัดระยอง จัดกิจกรรม “รวมน้ำใจ..สู้ภัยน้ำท่วม” ดึงองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์การเรียนโครงการในพระราชดำริฯ นำทีมพนักงาน อาสาสมัคร และประชาชนทั่วไป ร่วมปั้นลูกบอลจุลินทรีย์ (EM Ball) 1 ล้านลูก! หวังช่วยฟื้นฟูน้ำเสียและดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม
นายเจริญชัย ประเทืองสุขศรี ผู้บริหาร เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียตามมา เอสซีจี เคมิคอลส์ จึงร่วมมือกับจังหวัดระยอง จัดกิจกรรม “รวมน้ำใจ สู้ภัยน้ำท่วม...ปั้นลูกบอลจุลินทรีย์ 1 ล้านลูก” โดยประสานความร่วมมือไปยังศูนย์การเรียนรู้โครงการในพระราชดำริฯ หมู่ที่ 8 ต.สองสลึง อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งมีภูมิปัญญาในการทำลูกบอลจุลินทรีย์ในการบำบัดน้ำเสียอยู่แล้ว เชิญชวนพนักงานของบริษัทและประชาชนทั่วไปมาร่วมกันปั้นลูกบอลจุลินทรีย์ ทุกวัน ณ ศูนย์การเรียนรู้ฯ ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. จนกว่าจะครบตามจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ ขณะนี้มีผู้มีจิตอาสาทั้งพนักงานบริษัท เยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ประสบภัยที่อพยพมาจากพื้นที่น้ำท่วม แสดงเจตจำนงมาร่วมปั้นลูกบอลฯ ราว 200 คนต่อวัน และจะทยอยทำการส่งมอบลูกบอลฯ ที่ได้ไปยังพื้นที่ต่างๆ ผ่านจังหวัดระยองต่อไป
“ปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้นับเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายต้องร่วมมือกัน นอกจากการร่วมบริจาคสิ่งของต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความเป็นอยู่ให้แก่ผู้ประสบภัยแล้ว ลูกบอลจุลินทรีย์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า EM Ball จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยบำบัดน้ำเสียและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้กลับมามีสภาพดังเดิม ตลอดจนช่วยรักษาสุขภาพอนามัยของผู้ประสบภัยน้ำท่วมให้ไม่เป็นอันตรายจากเชื้อโรคและโรคระบาดเพราะน้ำเน่าได้อีกด้วย” นายเจริญชัย กล่าว
นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า แม้จังหวัดระยองจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยโดยตรง แต่ทางจังหวัดก็พร้อมจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการตั้งศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้อพยพและส่งสิ่งของจำเป็น อาทิ อาหาร เรือ ฯลฯ ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดยังได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนอย่าง บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง จัดกิจกรรมปั้นลูกบอลจุลินทรีย์ จำนวน 1 ล้านลูก เพื่อนำไปใช้ในการฟื้นฟูสภาพน้ำที่เน่าเสียในพื้นที่น้ำท่วม นับเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ดีอีกทางหนึ่ง
ด้าน ผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ ปราชญ์ชาวบ้านและผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้โครงการในพระราชดำริฯ เปิดเผยว่า การทำลูกบอลจุลินทรีย์ หรือ EM Ball มีสูตรการทำแตกต่างกันไปตามภูมิปัญญาแต่ละพื้นที่ สำหรับที่ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มีความพิเศษตรงที่ใช้ปุ๋ยหมักเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งมีสารอาหารและความเป็นด่างมากกว่าการใช้ดินหรือทรายทั่วไป โดยนำปุ๋ยหมักไปผสมกับน้ำหมักจุลินทรีย์คุณภาพ ในอัตราส่วน 2 : 1 และเติมส่วนผสมที่เป็นอาหารและเพิ่มคุณภาพให้ลูกบอลจุลินทรีย์ อาทิ รำ แกลบ นำมาปั้นให้เป็นก้อนกลมขนาดเท่าลูกเทนนิส ทิ้งไว้จนมีราขึ้นรอบลูกบอลฯ จึงนำลูกบอลจุลินทรีย์ที่ได้ไปโยนลงในแหล่งน้ำที่มีโคลนตะกอนหรือซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเสีย หรือน้ำที่มีกลิ่นเหม็น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นน้ำนิ่ง ไม่ไหลเวียน สามารถใช้ได้ในพื้นที่ 1 ตร.ม ต่อ 1 ลูก
“จุลินทรีย์ในลูกบอลที่มีประสิทธิภาพจะทำงานโดยแทรกตัวเข้าไปย่อยสลายของเสียใต้น้ำซึ่งเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้น้ำเน่าเสีย จากนั้นออกซิเจนจะเข้าไปแทนที่ ทำให้น้ำเน่าเสียลดลง โดยน้ำที่ขุ่นก็จะเริ่มตกตะกอนภายใน 1 สัปดาห์ กลิ่นเหม็นก็จะลดลง แถมช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิดได้อีกด้วย ใครที่อยากรู้ว่าได้ผลจริงหรือเปล่าสามารถมารับไปหย่อนใส่ส้วมดูได้ ไม่กี่วันกลิ่นเหม็นก็จะลดลงเอง” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ กล่าว
สนใจติดต่อเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้โครงการในพระราชดำริฯ หมู่ที่ 8 ต.สองสลึง อ.แกลง จ.ระยอง โทร.081-865-6301 / 082-204-6036
---------------------------------------------------
ข้อมูลเพ่ิมเติม ....
รวมน้ำใจ..สู้ภัยน้ำท่วม ปั้นลูกบอลจุลินทรีย์ (EM Ball) 1 ล้านลูก
ณ ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ต.สองสลึง อ.แกลง จ.ระยอง
ภายใต้การสนับสนุนของ SCG Chemicals และ จังหวัดระยอง
ลูกบอลจุลินทรีย์ หรือ EM Ball คืออะไร
EM ย่อมาจาก Effective Microorganism เป็นจุลินทรีย์ชนิดดีมีประสิทธิภาพ มีทั้งแบบก้อน (EM Ball) และแบบน้ำ (EM liquid) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น ค้นพบโดย ดร.เทรูโอะ ฮิหงะ แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว
การทำงานของ EM ไม่ใช่การบำบัดน้ำเสียโดยตรง แต่ใช้หลักการนำเอาจุลินทรีย์ชนิดดีมีประสิทธิภาพไปแย่งอาหาร (โคลนเลน ของเสีย และซากพืชซากสัตว์ที่ไหลมากับน้ำ) จากจุลินทีรย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่เป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสีย
EM สามารถช่วยปรับสภาพแหล่งน้ำที่เน่าเสีย ทั้งห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ หรือทะเล โดยโยนหรือเทใส่ลงในแหล่งน้ำ ปริมาณขึ้นอยู่กับขนาดของแหล่งน้ำนั้นๆ ซึ่งใน จ.ระยอง ก็เคยมีการใช้ EM ปรับสภาพของลุ่มน้ำประแสร์ จนปัจจุบันมีสภาพดีขึ้น มีสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ชาวประมงทำมาหากินได้มากขึ้น
สำหรับปัญหาน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดขณะนี้ อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียตามมาได้ ลูกบอลจุลินทรีย์จึงจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยบำบัดน้ำเสียและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้กลับมามีสภาพดังเดิม ตลอดจนช่วยรักษาสุขภาพอนามัยของผู้ประสบภัยน้ำท่วมให้ไม่เป็นอันตรายจากเชื้อโรคและโรคระบาดจากน้ำเน่าเสียได้ด้วย
สูตรการทำลูกบอลจุลินทรีย์ของผู้ใหญ่สมศักดิ์
การทำ EM Ball หรือ ลูกบอลจุลินทรีย์ (EM แบบก้อน) มีสูตรการทำแตกต่างกันไปตามภูมิปัญญาแต่ละพื้นที่ สำหรับที่ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ นำโดย ผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ จะมีความพิเศษตรงที่ใช้ปุ๋ยหมักเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งมีสารอาหารและความเป็นด่างมากกว่าการใช้ดินหรือทรายทั่วไป
ส่วนผสม
1. ปุ๋ยหมักชีวภาพ : เป็นส่วนผสมสำคัญที่ต้องหมักมูลสัตว์ รำ หัวเชื้อจุลินทรีย์ และน้ำหมักจุลินทรีย์ เข้าด้วยกัน โดยทิ้งไว้นานไม่ต่ำกว่า 4 เดือน เพื่อให้หมดก๊าซและมีกลิ่นหวานอมเปรี้ยว
2. น้ำหมักชีวภาพ : ได้จากการหมักพืช ผักและผลไม้ต่างๆ กับหัวเชื้อจุลินทรีย์ นานไม่ต่ำกว่า 5 เดือน
3. รำละเอียด : เพื่อเป็นอาหารและเร่งการเจริญเจิบโตของจุลินทรีย์
4. แกลบดิบ : เพื่อช่วยให้ลูกบอลจุลินทรีย์รวมตัวกันเป็นก้อน
5. แกลบเผา : เพื่อเพิ่มความเป็นด่างและช่วยดูดซับกลิ่นเหม็น
6. กากน้ำตาล : เพื่อช่วยดับกลิ่นและเป็นอาหารของจุลินทรีย์
หมายเหตุ : อัตราส่วนการผสม หากใช้ปุ๋ยหมัก 1 กิโลกรัม ให้ใช้น้ำหมัก 0.5 กิโลกรัม ส่วนส่วนผสมอื่นๆ เป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้ลูกบอลจุลินทรีย์สมบูรณ์ให้ใส่ประมาณ 1-2 ขีด
วิธีทำ
1. คลุกเคล้าส่วนผสมตามสัดส่วนให้เข้ากัน จากนั้นหมักส่วนผสมทั้งหมดทิ้งไว้ 2-3 วัน
2. นำส่วนผสมที่หมักได้ที่มาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดเท่าลูกเปตองหรือลูกเทนนิส โดยต้องปั้นให้แน่นและไม่มีรอยแตกร้าว แล้ววางตากไว้ในที่ร่มหรือที่อับชื้นนาน 3-4 วัน จนลูกบอลแห้งสนิท (ห้ามตากแดด)
3. นำบรรจุใส่ถุงรวมกันจำนวนหนึ่ง ทิ้งไว้ 3-4 วัน เพื่อให้ขึ้นรา
หมายเหตุ : ส่วนผสม 1 ตัน สามารถปั้นลูกบอลได้ 5,000 ลูก (ดังนั้น ลูกบอล 1 ล้านลูก จึงต้องใช้ส่วนผสม 200 ตัน)
การใช้งาน
โยนลูกบอลจุลินทรีย์ลงไปในแหล่งน้ำที่มีโคลนตะกอน น้ำขัง น้ำเน่าเสีย หรือน้ำที่มีกลิ่นเหม็น โดยต้องเป็นน้ำนิ่ง ในพื้นที่ 1 ตร.ม ต่อ 1 ลูก โดยโยนไม่ให้ลูกบอลละลายตัวก่อนจะถึงพื้นดิน จุลินทรีย์ในลูกบอลที่มีประสิทธิภาพนี้จะแทรกตัวเข้าไปในโคลนเลน ซากพืชซากสัตว์ หรือของเสียใต้น้ำซึ่งเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้น้ำเน่าเสีย โดยจุลินทรีย์จะเข้าไปช่วยดูดคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจน จนเกิดการย่อยสลายอินทรีย์สารต่างๆ จากนั้นออกซิเจนก็จะเข้าไปแทนที่ ทำให้น้ำเน่าเสียลดลง โดยน้ำที่ขุ่นก็จะเริ่มตกตะกอนภายใน 1 สัปดาห์ กลิ่นก็จะลดลง ทั้งยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิดได้อีกด้วย
หมายเหตุ : การใช้ลูกบอลจุลินทรีย์ในน้ำที่เริ่มจะเน่าเสียจะเห็นผลเร็วกว่าน้ำที่เน่าเสียนานแล้ว
ข้อสังเกต : เมื่อโยนลูกบอลจุลินทรีย์ลงในน้ำเสีย จะเห็นฟองอากาศผุดขึ้นมา เหมือนการให้ออกซิเจนในตู้เลี้ยงปลา
-----------------------------------------------
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
CSR-Public Communications
บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด
โทร. 081-499-7713 / Email. kulnares@scg.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น