เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : นพพล ภาคสุทธิผล, ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์
สมจิตต์ นวเครือสุนทร
คู่เดือดนายกฯ (หลายสมัย)
เป็นสื่อต้องถามหาความจริง...ไม่ใช่หาความเห็น
คำถามหน้าไมค์ที่ทำให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องเดินหนี ก่อนจะมีคำถามย้อนกลับว่า “เธอคือใคร” ในฐานะสื่อมวลชน สมจิตต์ นวเครือสุนทร คือคู่ปรับนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายสมัย
หากไม่ใช่เพราะคำถาม “แรง” ที่แทงใจนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนถึงกับเดินหนีนักข่าว สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสายการเมือง สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 คงไม่ถูกจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ข่มขู่ ทั้งโพสต์ภาพถ่าย และระบุข้อมูลส่วนตัว จากกลุ่มคนเสื้อแดงที่แสดงความไม่พอใจ โดย พรทิพย์ ปักษานนท์ ประธานกลุ่มคนเสื้อแดงเพชรบุรี เป็นผู้ออกมายอมรับว่าเป็นผู้ส่งจดหมาย ดังกล่าว พร้อมระบุว่าจะเดินทางมาขอโทษ เนื่องจากไม่มีเจตนาที่จะข่มขู่ แต่คุณสมจิตต์ ยืนยันที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่ฟอร์เวิร์ดเมล์ให้ถึงที่สุด เพื่อให้เป็นตัวอย่างกับสังคม…
//คำถามแทงใจนายกฯ?
ผู้สื่อข่าวหญิงวัย 42 ปี ย้อนเหตุการณ์วันที่สัมภาษณ์นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จนเกิดเป็นประเด็นดังว่า “เราตั้งคำถามว่า โฉมหน้ารัฐมนตรีเป็นอย่างไร เขาวิจารณ์กันว่าขี้เหร่กว่านายกรัฐมนตรี ก็ถามแบบนี้ แต่วันนั้นนายกฯ ยิ่งลักษณ์เดินหนี ซึ่งไม่มีปฏิกิริยามากมายอะไร แต่ก็มีการสอบถามว่า นักข่าวหญิงคนนี้เป็นใคร ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาของแหล่งข่าว เพราะเจอนักข่าวคนนี้ถามเยอะ คงอยากรู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน อย่างไร” นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ
แต่ดูเหมือนว่าครั้งที่ทำให้ผู้นำหญิงไม่พอใจในคำถามคือประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในฐานะสื่อมวลชนแล้ว เธอย้ำว่า “จริงๆ เป็นสิทธิ์ที่เราจะถาม แล้วเขาไม่ตอบก็ได้ เพราะแหล่งข่าวมีสิทธิ์จะตอบคำถามไหนก็ได้ อยากยืนยันว่าสิ่งที่่ถาม เป็นสิ่งที่สังคมตั้งข้อสงสัยในขณะนั้น เนื่องจากเป็นวันที่เปิดนโยบายแถลงต่อรัฐสภาเป็นครั้งแรก และมีการกำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญในนโยบายเร่งด่วน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับที่คุณยิ่งลักษณ์หาเสียง ว่าเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เรื่องปากท้องจะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ปรากฏว่าในการแถลงนโยบายมีการบรรจุเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี”
นอกจากประเด็นร้อนดังกล่าวแล้ว ยังมีบางประโยคที่อาจสร้างความระคายใจให้กับผู้ถูกตั้งคำถาม เนื่องจากเกี่ยวโยงไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย “เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมตั้งข้อสงสัย ไม่ใช่เป็นการตั้งคำถามแบบมีอคติ ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์มีสิทธิ์ที่จะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ การตอบหรือไม่ตอบเป็นการสะท้อนตัวคุณยิ่งลักษณ์ แล้วในวันที่ตั้งคำถามไป ผู้ติดตาม คุณยิ่งลักษณ์พูดกับนักข่าวที่ตามว่า ทำไมวันนั้นถึงปล่อยให้นักข่าวสภา ถามไล่บี้นายกรัฐมนตรี โดยไม่มีใครตั้งคำถามช่วย ตรงนี้เราคิดว่า เป็นเรื่องเศร้าใจมาก หนึ่งเศร้าใจวิธีคิดของแหล่งข่าวว่า นักข่าวจะต้องช่วยเขา สองแย่กว่านั้น ถ้ามีนักข่าวคนไหนทำแบบที่เขาพูด นั่นก็แสดงว่าเรากำลังมีปัญหาเรื่องวิชาชีพ”
//ไม่มีคติต่อ “นายกฯยิ่งลักษณ์”
แม้จะตั้งคำถามแรงจนกลายเป็นประเด็น แต่ในฐานะผู้สื่อข่าวที่ผ่านงานภาคสนามนานกว่า 10 ปี คุณสมจิตต์ปฏิเสธว่าไม่ได้มีอคติต่อคุณยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด “ถ้าถามว่า ทัศนคติของเราเป็นลบ กับคุณยิ่งลักษณ์ไหม ตอบว่าไม่ การกระทำนั่นแหละจะวัดทัศนคติของคนที่มีต่อคุณยิ่งลักษณ์ว่าเป็นอย่างไร ถามง่ายๆ ว่า คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยากได้คำตอบที่เป็นเชิงนโยบายของเขาไหม ว่ากองทุนมั่งคั่งทำเพื่ออะไร จะเอาเงินส่วนไหนมาทำ หรือเราอยากได้แค่คำตอบว่า ให้คุณไปถามรัฐมนตรีฯ คลัง หรืออยากได้คำตอบการโยกย้ายข้าราชการระดับ 11 ซึ่งเป็นอำนาจนายกฯ โดยตรง แต่คำตอบให้ไปถาม พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ หรือ ร.ต.อ.เฉลิม พอตอบแบบนี้ปุ๊บ ก็มีคำถามหนึ่งที่ย้อนกลับมาแรงมากว่า เราจะมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ยิ่งลักษณ์ทำไม เรามีแค่ ร.ต.อ.เฉลิม และพล.ต.อ.โกวิท เราก็ดูได้แล้ว สิ่งที่เราพูดไม่ใช่ทัศนคติส่วนตัว แต่เป็นผลที่เกิด จากการกระทำ” พรั่งพรูการทำงานด้วยน้ำเสียงจริงจัง
แต่กระนั้นในฐานะที่คุณยิ่งลักษณ์ก้าวมาเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของเมืองไทย การตั้งคำถามแบบดุเดือดดูจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก นักข่าวสาวฝีปากกล้า ยิ้มพลาง อธิบายด้วยน้ำเสียงราบเรียบ “คนเป็นนายกฯ ต้องเลิกคิดถึงเพศกันแล้ว เพราะในความเป็นผู้นำเขาต้องตอบได้ทุกคำถาม เพื่อที่จะให้ความกระจ่างกับสังคม ถ้าหากตอบไม่ได้ หรือไม่ตอบ ตัวคุณยิ่งลักษณันั่นแหละ เสียโอกาส เพราะทุกคำถามที่ออกไป นั่นแสดงว่ามีข้อสงสัยในสังคม เมื่อเลี่ยงไม่ตอบก็เสียโอกาสในการชี้แจงกับประชาชน สะท้อนให้เห็นถึงทีมที่ปรึกษา ทำให้ภาพภาวะความเป็นผู้นำติดลบในสายตาคนทั่วไป”
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเกิดเป็นคำถามถึงการบั่นทอนความรู้สึกของคนในอาชีพสื่อสารมวลชน โดยเจ้าตัวเผยว่า “คนเรามีสิทธิ์คิด ทำอะไรไม่มีทางทำให้ถูกใจหมด หรือแม้แต่คำว่าถูกต้อง ยังต้องวัดกันเลยว่า เป็นความถูกต้องของใคร (ยิ้ม) เมื่อไหร่ก็ตาม ถ้าเรามั่นใจในสิ่งที่ทำคือ หนึ่งยึดส่วนรวมเป็นที่ตั้ง สองคือไม่ทำเพื่อกลั่นแกล้งใคร มันจบแล้วโดยหน้าที่ของสื่อ ขอยื่นยันอีกครั้งหนึ่งว่า เราไม่ควรถามเพียงแค่ความเห็น แต่ควรถามเพื่อหาความจริง อย่าปล่อยให้นักการเมืองโกหกประชาชนโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือ”
// คนทำสื่อต้องหนักแน่น
เมื่อการปฏิบัติหน้าที่โดยยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลักกลับถูกคุกคาม จากคนบางกลุ่ม ในฐานะสื่อมวลชน สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุ และโทรทัศน์ไทย จึงออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ยุติการคุกคามสื่อมวลชน พร้อมให้กำลังใจสมจิตต์ ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างดีที่สุด ทั้งนี้เธอว่า
“เมื่อไหร่ก็ตามถ้าเราหวั่นไหว แล้วเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้าทำหน้าที่ เพราะตกอยู่ในความหวาดกลัว สังคมนี้ก็จะอยู่ยาก โดยเฉพาะคนที่ทำหน้าที่สื่อ เราต้องทำงานหนักแน่นมากกว่าอาชีพอื่น ก่อนที่จะแจ้งความดำเนินคดี ก็รู้ว่าผลกระทบอะไรจะตามมา เราทำงานอยู่ในแวดวงข่าว มองออกว่า ทิศทางของเรื่องราวจะไปทางไหน แต่วันนี้ สิ่งที่อยากสะท้อนออกไป ผ่านการตัดสินใจครั้งนี้คือ อยากบอกสังคมว่า ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย แล้วไม่มีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นเลย ถ้าแต่ละคนยังมีสติในการที่ยั้งคิดว่า สิ่งที่ตัวเองทำมันผิดกฎหมายไหม ละเมิดสิทธิของ คนอื่นหรือเปล่า โทษจะหนักหรือเบาไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือ ไม่มีใครมีสิทธิ์ทำผิดกฎหมาย และเมื่อมีคนที่ทำผิดกฎหมาย คนที่จะตัดสินถูกหรือผิดไม่ใช่ความรู้สึกจากคนใดคนหนึ่ง แต่ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ คือ ศาล ซึ่งเรากำลังใช้ช่องทางนี้อยู่”
// “สมจิตต์” ชื่อที่ทักษิณเมิน
ตลอดระยะของการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว คุณสมจิตต์ ขึ้นชื่อเป็นคู่ปรับนักการเมืองคนดังมาแล้วหลายคน เธอเล่าว่าเมื่อสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เธอตั้งคำถามเกี่ยวกับคดีซุกหุ้น จนคุณทักษิณหันกลับมาถามว่า “สมจิตต์ถามคำถามธรรมดา เหมือนคนอื่นได้ไหม เรียกชื่อจริงด้วยนะ (ยิ้ม) เราก็ถามย้ำอีกรอบ จนบอดี้การ์ดผลักกระเด็นออกไป นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้สัมภาษณ์คุณทักษิณ”
กระทั่งมาถึงสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณสมจิตต์ตามทำข่าว 2 ปี 7 เดือน พอมีการเลือกตั้งใหม่เลยถูกวางตัวให้ประจำที่รัฐสภา เธอจึงถูกมองว่าใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์
“ไม่ต้องมองว่าใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ (หัวเราะ) เพราะเขียนหนังสือให้คุณอภิสิทธิ์ถึง 2 เล่ม ของคุณกรณ์ จาติกวณิช อีกหนึ่งเล่ม ระหว่างความคุ้นเคยและเรื่องส่วนตัว กับการทำหน้าที่ เราแยกแยะได้ และทุกคนตรวจสอบการทำงานของเราได้ ตั้งแต่ตามสัมภาษณ์นายกฯ อภิสิทธิ์ก็ตั้งคำถามไล่บี้มากกว่านี้เยอะ (ยิ้ม) มันง่ายที่จะใส่สีให้กับคน ว่าคนนั้นสีนี้ คนนี้สีนั้น แต่ความจริงเราไม่เคยลงไปดูลึกว่า คนเหล่านี้ทำงานเป็นอย่างไร อันนี้เป็นปัญหาของสังคมไทย ที่มองทุกอย่างฉาบฉวยและผิวเผิน ยอมรับว่า คุ้นเคยกับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคการเมืองอื่น เพราะส่วนใหญ่ทำข่าวสายพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราคือคนของประชาธิปัตย์” อดีตนักศึกษาจาก ม.ราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าว
ความที่เป็นผู้สื่อข่าวสายการเมืองมาเนิ่นนาน เธอจึงมีโอกาสสัมภาษณ์อดีตนายกฯ มาหลายสมัย เจ้าตัวเล่าต่อว่า “ทำงานอยู่ช่อง 7 ได้ระยะหนึ่งก็มีปัญหากับ คุณบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี (หัวเราะ) วันสุดท้ายที่มีการยุบสภาเจอกับท่านบรรหาร ท่านถามพี่ว่า สะใจเธอหรือยังล่ะ ที่ฉันยุบสภา เราก็หัวเราะเฉยๆ จำไม่ได้แล้ว หรือสมัย คุณชวน หลีกภัย ตอนนั้นถามเรื่อง สปก. ท่านก็หันกลับมาตอบว่า คำถามมาจากบ้านก็กลับไปถามคุณพ่อคุณแม่ หนูดูซิ แต่ท่านเป็นคนน่ารัก ไม่อาฆาต แต่ช่วงนั้นอาจเป็นเรื่องของอารมณ์ หลังจากนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะท่านยังเขียนคำนำในหนังสือให้ด้วย อย่าคิดว่ามีปัญหากับ นายกรัฐมนตรีคนเดียว”
หรือแม้แต่สมัย สมัคร สุนทรเวช เป็นรองนายกรัฐมนตรี เธอได้รับฉายาจากคุณสมัครว่า “แม่ดาวนักถาม” ซึ่งผู้สื่อข่าวหญิงย้อนประสบการณ์น้ำเสียงสนุกว่า “พอถามก็จะมีเถียงๆๆ แต่พอเดินออกจากวงสนทนาปุ๊บ คุณสมัครก็มากระซิบทันที เมื่อกี้สนุกไหม เพราะฉะนั้น เวลาตอบโต้ดูท่านจะเป็นคนดุดัน แต่ข้อดีของคุณสมัครคือไม่เคยอาฆาต เคยถามท่านกลับไปว่า ทำไมถึงต้องตอบดุดัน ท่านบอก ไม่รู้มันเหมือนมีองค์ลง (หัวเราะ) ”
เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฐานันดร 4 บางครั้งคำถามก็สำคัญกว่าคำตอบ!!
Solid Media (Thailand) Co., Ltd.
1768 Thai Summit Tower, Phetchaburi Rd.,
Bangkapi, Huaykwang, Bangkok 10320
Tel: +662 654 7541-2 # 401
MB: 086 971 7959
Fax: +662 654 7577
______________
WhO? Magazine
www.whoweeklymagazine.com
ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้แรง แต่เธอมีสมอง และเป็นคนชัดเจน
ตอบลบ