สุทธิคุณ กองทอง หนุ่ม

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เรียนรู้จากซูจี เพื่อหลีกเลี่ยงกลียุค ถอดรหัสธรรม...วิเชษฐ์ เกษมทองศรี


เรื่อง: ว.วชิรเมธี ภาพ: กองบรรณาธิการ
//// เรียนรู้จากซูจี เพื่อหลีกเลี่ยงกลียุค
ถอดรหัสธรรม...วิเชษฐ์ เกษมทองศรี
       สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่จะพ้นจากการเว้นวรรคทางการเมือง วิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ใช้เวลาว่างไปบวชเข้าวัดปฏิบัติธรรม พร้อมไปแสวงบุญตามสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ที่ประเทศอินเดีย ทำให้จิตใจสงบไม่คิดเรื่องการเมือง  
      เหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาได้เห็นนักการเมืองบางคนแบ่งพรรคแบ่งพวก จึงมีคำถาม (ปุจฉา) ถึง พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ว่า “ทำอย่างไรให้สังคมมีข้อยึดเหนี่ยวจิตใจทางธรรมะ ให้เกิดความสมัครสามัคคีโดยไม่แตกแยก เพื่อประเทศชาติเกิดความสงบสุข”
พระมหาวุฒิชัย วิสัชนา
                   การแตกความสามัคคีในบ้านเมืองนั้นมีสาเหตุที่หลากหลายมาก แก้เหตุหนึ่ง ยังเหลืออีกเหตุหนึ่ง เหมือนลิงแก้แห คือ ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ต้องพยายามแก้ไปเรื่อยๆ ขอให้อดทน และรอคอยด้วยความใจเย็น
                   ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก ล้วนเคยผ่านความขัดแย้ง แตกแยก กว่าผู้คนจะคุ้นวัฒนธรรมประชาธิปไตยต้องใช้เวลา ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา กว่าจะได้ประชาธิปไตยมาล้วนผ่านสงครามกลางเมือง มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก
                   ธรรมชาติของประชาธิปไตยโดยมากเป็นเช่นนี้ คือ มีความไม่สงบ เพราะเกิดการปะทะสังสรรค์ทางความคิด ทางอุดมการณ์ก่อน ครั้นสงครามทางความคิดทางอุดมการณ์เข้าที่เข้าทางแล้ว ก็เป็นสงครามระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งค่อยๆ แสวงหาความสมดุลระหว่างกลุ่มต่างๆ ไปเรื่อยๆ ระหว่างนี้สังคมต้องเปิดใจ เรียนรู้วัฒนธรรมประชาธิปไตยไปพลางๆ
                   หากมองในมิติที่กว้างไกลระดับ 100 ปีขึ้นไป และระดับโลก จะพบว่า ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของประชาธิปไตย
                   แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ความขัดแย้งนั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย สันติวิธี
และกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับทุกคน
                   สันติวิธีสำหรับทุกขั้นตอนในการแสวงหาประชาธิปไตย คือ ทางสายกลางที่ผู้รักประชาธิปไตยไม่ควรมองข้าง หากแต่นำไปใช้ในทุกขั้นตอน มิเช่นนั้นแล้ว บ้านเมืองจะไม่มีหลักประกันสำหรับประชาชน และความรุนแรงจะทำให้เกิดสงครามกลางเมือง
                   อีกประเด็นหนึ่งที่ทุกฝ่ายควรปฏิบัติ คือ การก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อเห็นแก่ ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ เช่นที่พม่า อองซาน ซูจี แม้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลทหาร แต่เมื่อคำนึงถึงภาพรวมของประเทศ ทั้งสองฝ่ายก็ค้นหาทางสายกลางทางการเมืองจนพบ นั่นคือ การปรองดอง โดยเลือกที่จะมองข้ามอดีตแล้วหันมาร่วมกัน สร้างอนาคตสำหรับวันพรุ่งนี้ โดยวิธีการที่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ในที่สุดพม่าพร้อมเปิดประเทศ และเนื้อหอมในทุกวันนี้
                   คู่ขัดแย้งที่ร้ายแรงที่สุด หากหันมาจับมือกันก็อาจกลายเป็นคู่แห่งความเจริญ ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเช่นกัน
                   กรณีศึกษาของพม่า น่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่นักการเมืองในเมืองไทย ควรหันมาพิจารณาเพื่อประเทศไทย จะได้มีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น