สุทธิคุณ กองทอง หนุ่ม

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มาตรฐานทั้งสองของความดี ตอบคำถาม จิระนันท์ พิตรปรีชา




เรื่อง : ว.วชิรเมธี ภาพ : กองบรรณาธิการ


มาตรฐานทั้งสองของความดี

ตอบคำถาม จิระนันท์ พิตรปรีชา

ปัญหาคาใจนักเขียนซีไรต์ จีระนันท์ พิตรปรีชา หรือ พี่จี๊ด ของน้องๆ ในวงการน้ำหมึก นึกไม่ถึงว่าล้ำลึกเช่นเดียวกับผลงานหนังสือ สิ่งที่คุณจี๊ดปุจฉาถึง พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย คือ “มีคนมองว่าผู้ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ หรือดื่มกาแฟเป็นคนดี แต่เชื่อไหมว่าคนดื่มกาแฟโกงกินเป็นร้อยล้าน ดังนั้น มาตรฐานความดีกับกฎระเบียบของศีลธรรม มีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร”

พระมหาวุฒิชัย วิสัชนา

มาตรฐานความดีกับกฎระเบียบของศีลธรรมมีความแตกต่างดังนี้

1. มาตรฐานความดีเป็นมาตรฐานกลางที่วางอยู่บนความจริงตามธรรมชาติ ไม่ขึ้นกับเหตุการณ์ สถานที่ ความเชื่อ หรือไม่มีข้อยกเว้นแก่ใครทั้งสิ้น มีลักษณะสำคัญ 2 อย่างคือ

1. เป็นความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง

2.เป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือตามเหตุและผล

ความจริงที่เป็นกลางอยู่อย่างนั้น เรียกว่า “สัจธรรม” การประยุกต์ใช้หลักสัจธรรมด้วยความรู้เท่าทันความจริงเรียกว่า “จริยธรรม” ตัว “จริยธรรม” ที่วางรากฐานบนสัจธรรมคือ มาตรฐานความดี เช่น ความจริงของสิ่งต่างๆ ในโลกนี้เกิดจากการปรุงแต่งว่า “ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา” ในเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในทางปฏิบัติ (=จริยธรรม) จึงไม่ยึดติดถือมั่นอะไรทั้งสิ้น เพราะยึดสิ่งใด สิ่งนั้นก็ผันแปรไป ทำได้ดีที่สุดแค่ “ใช้” สิ่งเหล่านั้นชั่วคราวเท่านั้น หลักนี้จำง่ายๆ ว่า “สรรพสิ่งคือของใช้ อย่าเข้าใจว่าเป็นของฉัน”

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งของมาตรฐานความดีคือ สิ่งต่างๆ ล้วนเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัย (เหตุและผล ผลและเหตุ ส่งต่อเป็นทอดๆ ในรูปกระแสความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน) ถ้าทำเหตุดี ผลก็ดี ถ้าทำเหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดี หรือผลย่อมเกิดจากเหตุ เหตุย่อมก่อให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ลักษณะความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความจริงสากลที่ใช้กับคนหรือสิ่งต่างๆ ทั่วโลก ใครทำถูกเหตุปัจจัยก็ได้ผลเหมือนกัน ไม่มีข้อยกเว้น

นี่คือมาตรฐานความดีที่เป็นสากล อุปมาง่ายๆ เหมือนเกลือที่เค็ม โดยไม่เกี่ยวว่าใครเป็นคนชิม เกลือก็ยังเค็มอย่างนั้น นี่คือมาตรฐานของความดีที่เป็นมาตรฐานกลาง

2.กฎระเบียบของศีลธรรม เกิดขึ้นจากการบัญญัติของศาสดาแห่งศาสนาต่างๆ บ้างเกิดจากบทบัญญัติของสังคม ของเผ่า ชุมชน หรือลัทธินิกายต่างๆ รวมถึงระบบความเชื่อ และกฎเหล่านี้วางรากฐานอยู่บนความจริง (เช่น ศีล 5 เป็นมาตรฐานความดี เพราะศีลทุกข้อวางรากฐานอยู่บนสัจธรรม ไม่ใช่บัญญัติขึ้นมาโดยไม่สอดคล้องความจริงตามธรรมชาติ) หรือไม่มีความจริงรองรับ เพียงแต่บัญญัติขึ้นเพื่อหวังผลความสงบสุขเฉพาะสังคม ชุมชน และวิถีชีวิต ดังนั้นจึงใช้สำหรับบางที่ บางชุมชน และบางประเทศ เช่น เมืองไทยถือว่าความกตัญญูเป็นคุณธรรมที่ลูกหลานต้องปฏิบัติต่อมารดาบิดา แต่ในตะวันตก เด็กอายุ 18 ปี ก็ออกไปสร้างครอบครัวใหม่ของตัวเอง โดยไม่ถือว่าการออกไปนั้นเป็นความอกตัญญู หรือคนไทยมองว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งเป็นสิ่งไม่ดี แต่ตะวันตกว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเสรีภาพ ก่อนแต่งควรมีประสบการณ์และเลือกคนที่ใช่ที่สุด หลังแต่งจึงถือว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่ห้ามละเมิดจริยธรรมทางเพศเป็นอันขาด หรือกฎพระสงฆ์สายเถรวาทที่ห้ามฉันยามวิกาล (หลังเที่ยง) กฎนี้ใช้กับพระสงฆ์สายเถรวาทเท่านั้น กับบุคคลอื่นไม่มีปัญหา อยากกินเมื่อไหร่กินได้ นี่คือตัวอย่างของกฎระเบียบศีลธรรม

จำง่ายๆ ว่า มาตรฐานความดีเป็นจริยธรรมสากลที่วางอยู่บนความจริงตามธรรมชาติ เป็นความจริงสำหรับทุกคน และทุกคนควรปฏิบัติให้ถูกต้อง (ไม่มีลักษณะบังคับ เป็นเรื่องของปัญญาแท้ๆ ที่รู้ความจริงของธรรมชาติแล้วปฏิบัติตนให้สอดคล้อง) ไม่ขึ้นกับความเชื่อ หรือสถานที่ ส่วนกฎระเบียบศีลธรรมเป็นความดีที่เป็น “สิ่งสัมพันธ์” ขึ้นอยู่กับกาลเทศะ และระบบความเชื่อ

การวินิจฉัยความดี ความชั่ว ต้องดูว่า ใช้กฎระเบียบศีลธรรมใดมาเป็นกรอบตัดสิน กรอบกับวิธีวัดต้องสอดคล้อง แต่การดูว่าคนดีหรือไม่ดีอย่าใช้เพียง “รูปลักษณ์ภายนอก” เป็นตัวตัดสิน เพราะสิ่งเหล่านี้เสแสร้งได้ ต้องดูกันนานๆ ดูกันทั้งชีวิต การดื่มกาแฟหรือรับประทานไข่ปลาคาร์เวียร์ ขับรถอีแต๋น หรือเบนซ์ สิ่งเหล่านี้ใช้เป็นมาตรฐานตัดสินความดีความชั่วไม่ได้ เพราะแต่งกายดี ขับรถแพง รสนิยมวิไล บางทีก็เป็นหัวหน้าชุมโจร ส่วนคนที่ใช้ชีวิตปอนๆ บางทีก็เป็นปัญญาชน หรือบางทีเป็นศรีธนญชัยที่พูดอย่างทำอย่างกลิ้นกะล่อนไปวันๆ เปลือกของคนนั้น บอกยี่ห้อของคนไม่ตรงกับความจริง ต้องใช้ “ความจริง” และ “กาลเวลา” มาช่วยวินิจฉัยอีกทางหนึ่งจึงจะบอกได้ว่า ใครดี หรือไม่ดี



Solid Media (Thailand) Co., Ltd.
1768 Thai Summit Tower, Phetchaburi Rd.,
Bangkapi, Huaykwang, Bangkok 10320
Tel: +662 654 7541-2 # 401
MB: 086 971 7959
Fax: +662 654 7577

______________
WhO? Magazine
www.whoweeklymagazine.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น