สุทธิคุณ กองทอง หนุ่ม

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี เผชิญข้อกล่าวหา “อยากดัง-เงาเสื้อเหลือง-รับเงิน 100 ล้าน”










เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง
ภาพ : ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์

ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์
แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี
เผชิญข้อกล่าวหา “อยากดัง-เงาเสื้อเหลือง-รับเงิน 100 ล้าน”

"ผมกล้าบอกเลยว่า ต่อให้เกิดเหตุรุนแรงกว่านี้ คนที่เรียกร้องสันติก็จะออกมา จนกว่าจะได้สันติคืนมา"

เมื่อสวมเสื้อกาวน์รักษาคนไข้อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ “หมอตุลย์” หรือ ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ได้ชื่อว่า...เป็นผู้ให้ชีวิต แต่หลังเกิดเหตุม็อบคนเสื้อหลากสีเจอระเบิดเอ็ม 79 ที่ถนนสีลม หมอตุลย์ในฐานะแกนนำคนเสื้อหลากสี ก็เจอคำกล่าวหาฉกรรจ์...พาคนไปตาย
ก่อนหน้านั้น เมื่อคุณหมอลุกขึ้นมาโบกธงชาติไทย ในฐานะประชาชนผู้ต้องการสันติ ก็เจอมาแล้วหลายข้อกล่าวหา อาทิ อยากดัง ผิดจรรยาแพทย์ กระทั่งเคลื่อนไหวได้ด้วยการรับเงินรัฐบาลมา 100 ล้านบาท
คุณหมอให้สัมภาษณ์ WhO? ในวันที่ม็อบของเพื่อนร่วมชาติแต่ต่างความเห็น เย้วๆ อยู่ไม่ไกลโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่คุณหมอทำงานเท่าใดนัก และเป็นวันเดียวกับที่คุณหมอกำลังทำหน้าที่ผู้ให้ชีวิต ด้วยการทำคลอดทารกเกิดใหม่ถึง 5 ราย การสัมภาษณ์ครั้งนี้จึงใช้เวลาเนิ่นนาน เพื่อให้คุณหมอวิ่งไปทำหน้าที่เป็นระยะๆ

///หมอตุลย์...เขาคือใคร
หลากหลายคำถามถึง “หมอตุลย์” คือเขาเป็นใคร ไฉนจึงสามารถสร้างปรากฏการณ์ ดึงปัญญาชนคนกรุงเทพฯ ให้ร่วมแสดงพลังได้มากมายถึงเพียงนี้ หรือมีผลประโยชน์อันใด ซ่อนเร้นในการปลุกระดมมวลชน จนกลายเป็นม็อบชนม็อบหรือไม่
สารานุกรมจากวิกิพีเดีย ระบุไว้ว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2508 เป็นบุตร ประทวน สิทธิสมวงศ์ อดีตอาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ พ.อ.(พิเศษ) หญิง สมพร สิทธิสมวงศ์
ผศ.นพ.ตุลย์ ร่ำเรียนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมต้นที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้นเข้าเรียนมัธยมปลายเพียงปีเดียวที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนสอบเทียบเข้าคณะแพทยศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2524 และสำเร็จแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2530 ได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้หรือความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา แพทยสภา พ.ศ.2536 ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางคลินิกสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2534 และบรรจุเป็นอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2538
ปัจจุบันนอกจากทำงานที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แล้ว นอกเวลาราชการ ยังทำงานประจำที่โรงพยาบาลพญาไท 2 อีกด้วย คุณหมอมีความชำนาญ ทางด้านมะเร็งวิทยาทางนรีเวชเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา หน่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์หมอตุลย์เป็นหนึ่งในผู้ประสานงานเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย (จคป.) และเคยขึ้นเวทีร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นผู้ประสานงานกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนหลายกลุ่ม ในช่วงวิกฤตการเมืองท้ายสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น เครือข่ายวิชาการเพื่อประชาธิปไตย(ควป.) เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคม กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาชน เครือข่ายสมัชชาประชาชนทั่วประเทศ กลุ่มนักวิชาการนักธุรกิจและประชาชน แนวร่วมประชาชนต้านการนิรโทษกรรมฯ ผู้นำกลุ่มประชาชนผู้รักชาติและความถูกต้อง ฯลฯ
นอกจากนั้น ผศ.นพ.ตุลย์ ยังเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้ง ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมาธิการและโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและส่งเสริมการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมแก่นักการเมือง ข้าราชการและประชาชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้นำร่วมกับสภาคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คัดค้าน สนช. ในการผ่านร่าง พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.... อย่างเร่งรีบโดยไม่ฟังเสียงประชาคมจุฬาฯ
พลิกปูมความเคลื่อนไหว จะเห็นว่า ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ มิใช่ “มือใหม่” แต่อย่างใด และเมื่อความเคลื่อนไหวพัฒนาไปสู่โลกไซเบอร์ ล่าสุดคุณหมอจึงอยู่ในฐานะแกนนำกลุ่มประชาชนพิทักษ์ชาติ หรือกลุ่มคนเสื้อหลากสี และกลุ่มเครือข่ายออนไลน์ในเว็บไซต์ Facebook ที่ออกมาต่อต้านการยุบสภา ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนถูกกระแสข่าวลือกระหน่ำแทบตั้งตัวไม่ติด
เริ่มต้นจาก 20 คน นำไปสู่พลังมหาชน

? เริ่มต้นอย่างไร จึงมาเป็นแกนนำ “กลุ่มคนเสื้อหลากสี”
“จุดเริ่มต้นเคลื่อนไหว สืบเนื่องมาจากวันที่ 2 เมษายน มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อสีชมพู ทำให้เจอกัน ได้พูดคุยแสดงความคิดเห็นต่อกัน ประจวบกับผมก็กำลังรวบรวมรายชื่อคัดค้านการยุบสภาอยู่พอดี ก็ได้กลุ่มของ อาจารย์ตรีดาว อภัยวงศ์ (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) มาช่วยกัน เลยตั้งใจจะจัดเป็นเวที ในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นภาคประชาชน จึงเริ่มการติดต่อโดยการส่งอีเมล เพื่อชักชวนพลังเงียบทั้งหลายที่สนใจ
“หากท่านกำลังมีอาการอึดอัด เครียด วิตก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ มองไม่เห็นอนาคตของชาติ ขอเชิญมารวมตัวกันในงานชุมนุม
จากนั้นมันก็เป็นลูกโซ่ออกไป ให้คนอ่านที่สนใจได้ลองมาคุยกันถึงความเดือดร้อนจากการชุมนุม ความไม่เห็นด้วย ตลอดจนความอึดอัดต่างๆ ที่น่าจะปรับเปลี่ยนเป็นทิศทางแก้ไข โดยเราจัดเตรียมเวทีเครื่องเสียงไว้ให้ ได้แสดงเสียงกันอย่างเต็มที่ จนเกิดเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน กระทั่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต”
หมายเหตุ WhO? คุณหมอเคยให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า "ผมกล้าบอกเลยว่า ต่อให้เกิดเหตุรุนแรงกว่านี้ คนที่เรียกร้องสันติก็จะออกมา จนกว่าจะได้สันติคืนมา"
“ผมจำได้ว่าวันที่ 12 เมษายน ได้ไปเยี่ยมทหาร แล้วก็ชักชวนกันออกมา ชุมนุมในนามเสื้อหลากสีที่เป็นการชุมนุมใหญ่ ซึ่งเสียงตอบรับดีมากๆ ผมว่า เป็นการตอบสนองความอึดอัดของคนไทย ตั้งแต่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุม แล้วสร้างความเสียหายให้กับคนไทย ทั้งที่อุดรฯ และเชียงใหม่ที่ต้องมีคนตาย จนล่าสุดมีทหารตาย ทุกคนเลยทนไม่ได้แล้ว เลยต้องออกมาร่วมกัน กลุ่มคนเสื้อแดงยังพูดถึงเราเลยว่า มีไม่ถึง 20 คน แล้วมันก็จริงๆ แต่มีผู้คนมาร่วมกันมากขึ้น กลายเป็นร้อยแล้วก็เกือบพันคน จากนั้นก็มีการส่งข่าวกันทาง Facebook เลยมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
//หวิดสิ้นชื่อ…เมื่อประจันหน้ากลุ่ม นปช.
เมื่อประกาศตัวชัดเจนเป็นแกนนำของกลุ่มคนเสื้อหลากสี ทำให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า หมอตุลย์เป็น “นอมินี” ของพันธมิตรฯ หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง​ ที่มาคือ ครั้งที่รายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ซึ่งมี สนธิ ลิ้มทองกุล และ สโรชา พรอุดมศักดิ์ ดำเนินรายการ ถูกระงับการออกอากาศในครั้งโน้น​ ทำให้หมอตุลย์อดรนทนไม่ไหว ออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรฯ กระทั่งเป็นที่รู้จักของบรรดาผู้ชุมนุมจำนวนไม่น้อย แต่ บ้างก็รู้จักเพียงชื่อ ไม่รู้จักหน้าตา ทำให้คุณหมอเจอนาทีระทึกใจและหวิดเผชิญอันตรายมาแล้ว
“ก่อนที่กลุ่มเสื้อแดงจะบุกสภา 2 วัน พอดีผมไปประชุมอนุกรรมาธิการ การทำหน้าที่ตรวจสอบของภาครัฐ พอประชุมเสร็จ เชื่อไหมว่า รถคนเสื้อแดงมาจอดอยู่ด้านหน้าผม ที่ยืนอยู่ด้านหน้ารัฐสภา แล้วเขาก็ร้องตะโกน ลองนึกภาพว่า คนที่ตะโกนก็ไม่รู้จักผม ถ้าจังหวะนั้นมีใครเรียกหมอตุลย์ขึ้นมา งานนี้ตายแน่เลย รับรองว่าผมต้องโดนคนเสื้อแดงกระทืบทั้งคันรถแน่ๆ (หัวเราะ) นับว่าเป็นจังหวะดี ที่เพื่อนซึ่งมาประชุมด้วยกันยืนอยู่ห่างๆ ไม่อย่างนั้นคงมีใครเรียก...หมอตุลย์ข้ามถนนไปด้วยไหม หรือไปรถผมไหม เชื่อเถอะว่า ผมคงถูกกระทืบตายตรงนั้น ไม่เหลือ”
//ถูกขู่ฆ่าและคุกคามตลอดเวลา
คุณหมอว่า การออกมาเรียกร้องเช่นนี้ มิได้ต้องการอยากดังเหมือนที่มีบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ แม้จะมีข่าวลือว่าผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาฯ ออกตัวว่าการดำเนินการของคุณหมอ ไม่เกี่ยวกับโรงพยาบาล แต่เพื่อนอาจารย์ด้วยกัน และบุคคลทั่วไปก็ให้การสนับสนุนมากมาย แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ”
“ผมโดนขู่ฆ่าเพียบเลย (หัวเราะ) โทร.ไปที่บ้าน ลูกรับสายก็ด่าหยาบๆ คายๆ ใส่ ขู่ฆ่า ขู่เผาผมก็มี แต่ถ้าผมมีเวลาก็จะอธิบายว่าคุณคิดว่าผมชั่วมากเลยใช่ไหม แต่ถ้าผมจะบอกว่า ผมกำลังตรวจสอบรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์อยู่ คุณจะเชื่อหรือเปล่า แล้วถ้าผมไม่ได้ตรวจสอบตามที่พูด ขอให้ผมตายไปเป็นสัตว์อะไรก็ได้
“ผมอยากบอกว่าโดยส่วนตัวแล้ว เรามีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ว่าเขาเอาเงินภาษีของเราไปใช้อย่างไร จริงๆ แล้วไม่ควรมีการผ่อนผัน เงินควรจะได้เข้ารัฐ แล้วก็นำไปใช้ในโครงการที่ประชาชนอย่างเราชื่นชอบหรือเรียนฟรี
“ผมถามว่า โครงการต่างๆ เหล่านั้นเป็นเงินคุณทักษิณหรือเปล่า จริงๆ ไม่ใช่ เป็นเงินของประชาชนทั้งนั้น คนเสื้อแดงที่ชอบโครงการคุณทักษิณ ถามว่ามีเงินของเขาสักแดงหนึ่งไหม ผมตอบแทนได้เลยว่า...ไม่เคย เพราะเงินที่ใช้ในโครงการต่างๆ ไม่ใช่เงินคุณทักษิณเลยสักบาทเดียว ถ้าใครเคยไปช่วยเขาหาเสียงเลือกตั้ง จะรู้ว่าขี้เหนียวมาก (เน้นเสียง) ขนาดมีบางคนบอกว่าจะก่อม็อบ เขายังบอกเลยว่าเอาไปแค่นี้ก่อน ถ้าสำเร็จค่อยมาเอาไปทั้งหมด
“ที่สำคัญคือถ้าการให้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ยิ่งถ้าเคยขาดในบางอย่าง แล้วเขานำไปให้ อาจไม่ได้สนใจว่าเงินที่เอาไปให้นั้นมาจากไหน มาจากการปล้นหรือโกงมาหรือเปล่า กรณีที่มีหัวคะแนนไปช่วยหาเสียงว่า ถ้าชนะเลือกตั้งจะทำโน่นทำนี่ให้ ซึ่งเขาก็ได้จริง อย่างเรื่องเรียนฟรี หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็เป็นนโยบายที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้ว ถ้าไม่ทำซิ...ผิด
“แต่ถ้าประกาศบนเวทีหาเสียงว่า ถ้าเขตไหนเลือกผม ผมจะเอางบประมาณมาลงก่อน แสดงว่าถ้าเขตไหนไม่เลือก...ก็จะไม่ได้ แบบนี้มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว เพราะหลักประชาธิปไตยจริงๆ เงินจะต้องลงไปในพื้นที่ที่ขาดแคลน หรือพื้นที่ที่ต้องการความช่่วยเหลือมากที่สุดก่อน พื้นที่ไหนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ก็จะน้อยลงมา ไม่ใช่ สส.ใหญ่ หรือ สส.เก่งแล้วได้งบประมาณเยอะ ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ถ้าเปรียบเทียบต่อหัว งบประมาณจะต้องได้น้อยที่สุด ไม่ใช่ว่าต้องเลือกฉัน แล้วฉันถึงให้”
//เคยเทคะแนนให้พรรคไทยรักไทย
คุณหมอตุลย์ว่าครั้งหนึ่งเขาก็เคยเทคะแนนให้พรรคไทยรักไทย ด้วยความหวังที่จะให้โอกาส พ.ต.ท.ทักษิณ และทีมงานได้ทำงาน แม้จะมีเพื่อนๆ คัดค้านอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เปลี่ยนใจ
“ปี 44 เพื่อให้โอกาส ผมเลือกพรรคไทยรักไทย แต่พอเราให้โอกาสแล้วคุณทุจริต คุณก็จะต้องถูกลงโทษ ถ้าจะบอกว่าเขาอาจเปลี่ยนตัวเอง ผมมองว่า...ลืมไปได้เลย แต่หลายคนมองว่าไม่ใช่ เป็นเพราะเขาเคยให้ประโยชน์ ยังไงฉันก็ไม่ยอมเด็ดขาด นี่คือต้นเหตุของความแตกแยกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“คนที่เชียร์คุณทักษิณตอนนี้มีสองกลุ่ม กลุ่มแรกเข้าใจชัดเจน ยอมรับเลยว่าเขาโกง แต่ยังไงฉันก็ยังอยากได้ประโยชน์จากเขา ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่รู้ ไม่เชื่อว่าเขาโกง ผมว่าคนกลุ่มหลังพอที่จะคุยกันได้ แบบนี้เราก็ให้ข้อมูลเขาไป ส่วนกลุ่มแรกคงต้องใช้เวลาแก้กันยาวหน่อย เช่นกลุ่มตำรวจ-ทหารที่เคยได้ประโยชน์ เลยคาดหวังว่าวันหนึ่งหากเขากลับมาจะได้ผลประโยชน์ เพื่อตอบแทนบุญคุณที่ทำให้ในตอนนี้ โดยไม่สนใจว่าบ้านเมืองจะเสียหายแค่ไหน
“ผมบอกเลยว่าทหารแตงโม ไม่สมควรเป็นทหาร หรือตำรวจมะเขือเทศ ก็ไม่สมควรเป็นตำรวจ เพราะรัฐบาลสั่งอะไรก็เป็นใบ้กันหมด บ้านเมืองเลยไม่สงบสักที ดังนั้น รัฐบาลต้องใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่มัวแต่จะโปรยใบปลิวเพื่อให้เอาไปรองนั่ง รัฐบาลต้องใช้ลำโพงอัดเข้าไป พูดถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ใครยิงก่อน เริ่มจากใคร เพื่อให้เขาเข้าใจ และต้องบอกว่าตอนนี้คุณเสี่ยงต่อชีวิต ทหารพร้อมที่จะยิง เพราะพวกคุณกำลังทำผิดกฎหมาย แล้วที่คุณเอาศพไปแห่รอบเมือง นั่นไม่ใช่ฮีโร่ นั่นคือการประจาน พวกคุณจะให้เขาเหยียบศพ เพื่อขึ้นไปมีอำนาจหรือ
“การใส่ความว่าเป็นฝีมือของรัฐบาล ที่มีคนตายวันที่ 10 เมษา ถ้าเขาบอกว่ารัฐบาลสร้างสถานการณ์ ทำไมจึงมีทหารตาย”
//นอมินีเสื้อเหลือง?!?
? มีคำกล่าวหาว่าคุณหมอเป็นนอมินีของ “คนเสื้อเหลือง”
“อยากบอกว่านั่นเป็นการใส่ความเพื่อดิสเครดิตว่าผมเป็นเสื้อเหลือง เพราะผมเคยไปร่วมกับพันธมิตรฯ ยึดสนามบิน ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล แต่เท่าที่ทราบ เราไม่ได้ยึดทาวเวอร์ไม่ได้ยึดลานบิน พอชุดแรกไปถึงสนามบิน เขาก็รีบประกาศปิดสนามบิน โดยที่ไม่ได้ประกาศสนามบินสำรองเอาไว้เลย...เป็นเรื่องแปลกมาก แต่ดูๆ แล้วเราอาจจะได้จำเลยในคดีปิดสนามบินด้วย ต่อมามีการเปลี่ยนรัฐบาล พันธมิตรฯ เลยต้องยุติบทบาทชั่วคราว
“แต่พอเสื้อแดงกร่างขึ้นมามีอิทธิพลแบบนี้ จะให้ผมใส่เสื้อเหลืองออกมาเย้วๆ ก็คงไม่ได้ เขาต้องหาว่าผมเป็นสีเหลือง ทำให้ผมต้องรวมพลรวมพลังกันเอง โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือไม่มีเรื่องสีมาขีดกั้น ผมมาชุมนุมด้วยตัวเอง ไม่มีเรื่องพันธมิตรฯ เหมือนหมอเหวง (นพ.เหวง โตจิราการ) ตอนแรกก็ออกมาไล่คุณทักษิณ อยู่ดีๆ ก็ออกมาเป็นเสื้อแดงเสียเอง นั่นมันก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล ทำไมไม่ไปว่าเขาบ้าง ว่าเป็นเหลืองอยู่ดีๆ แล้วมาเป็นแดง แล้วผมจากเหลืองกลายมาเป็นคนเสื้อหลากสี มันก็เป็นสิทธิของผม เมื่อวานผมกินข้าวผัด วันนี้ผมจะกินสปาเกตตีหรือพิชซา ก็เป็นสิทธิของผม ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ผิดกฎหมาย”
? บางเสียงก็ว่าคุณหมอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 100 ล้านบาท ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
“ตอนแรกก็บอกว่า ศอฉ. รัฐบาล พันธมิตรฯ​ หนุนหลัง ล่าสุดที่ผ่านมาเขาพูดว่า ผมได้เงินจาก ซีพี 10 ล้านบาท แล้วก็ได้อีก 30 ล้าน จนตัวเลขขึ้นมาเป็น 100 ล้านบาท ผมคิดว่า สาเหตุน่าจะเกิดจากการที่พวกเราออกมาเคลื่อนไหว แล้วมีผลกระทบ ก็เลยต้องกดดันหน่อย เขาเลยพุ่งเป้าดิสเครดิตไปที่แกนนำเสียเลย เหมือนที่เขาบอกว่าจับโจรต้องจับไปที่หัวหน้า ถ้าจะทำลายกองทัพก็ต้องทำลายแม่ทัพก่อน แล้วทุกอย่างก็จะระส่ำระสาย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการดิสเครดิตพลังของพวกเรา ซึ่งน่าจะได้ผล ผมบอกได้เลยว่า ยิ่งมีผู้คนออกมาชุมนุมกันมากแบบนี้ มันยิ่งได้ผล แต่ไม่มีใครเชื่อว่า มีนายทุนมาสนับสนุนพวกเราแน่นอน
“ตอนนี้ผมเลยพูดเล่นไปเลยว่า ผมได้เงินมา 100 ล้านบาท ใช้ไปแล้ว 99 ล้าน เหลืออีก ล้านบาทอยู่บนหัวผม ​(หัวเราะและชี้ไปที่กลางศีรษะ) เหลือล้านเดียวที่จ่ายไม่ออกตรงนี้ ผมเองยังพูดบนเวทีด้วยซ้ำว่า ถ้าผมไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ผมก็ไม่ออกไปร่วมเหมือนกัน แม้แต่รัฐบาลเอง ถ้าทำไม่ดีก็ไม่เชียร์ แถมยังจะด่าด้วย อย่างโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์) เป็นรุ่นน้องผม ถ้าทำไม่ดีผมก็ว่าทันที ผมมีอิสระ ผมไม่ใช่สมาชิกพรรค เป็นประชาชนเต็มขั้น ผมไม่รับเงินไม่ใช่เพราะผมฐานะดี แต่บางคนบอกว่าผมแจกเงินให้กับคนที่มาชุมนุมคนละพัน ถามว่าผมจะเอาเงินที่ไหนมา แค่บริหารให้มีเวที มีน้ำกิน แค่นี้ผมก็จะตายแล้ว (หัวเราะ)
“คนที่มาร่วมชุมนุมต่างก็ช่วยบริจาคให้เป็นค่าน้ำดื่ม แล้วจะให้ผมไปเอาเงินคนอื่นหรือ ขณะที่ก่อนหน้านี้ผมไปด่าว่าเขาไว้ ถ้าวันนี้ผมรับเงิน แสดงว่าผมชั่วเสียเอง ทุกวันที่มีการชุมนุมกัน ผมต้องรับเงินพันหนึ่งบ้าง ห้าพัน หรือเป็นหมื่นบ้าง ยี่สิบบาทบ้าง ผมจะถามก่อนว่า เงินจำนวนนี้ให้ใคร ถ้าเป็นเงินทหาร ผมจะเอาเข้ากระเป๋าซ้าย เงินสนับสนุนการชุมนุม ผมก็จะใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ ส่วนเงินตัวเองจะเอาไว้กระเป๋าขวา เพื่อให้โปร่งใส ตอนควักเงินออกมานับผมจะมีคนมาเป็นพยาน นับเสร็จก็ใส่กล่องลงไป ตอนนี้มีเงินช่วยทหารไปแล้ว 2 ล้านกว่าบาท เงินช่วยเวทีตอนนี้ประมาณ 250,000 บาท”
//นิยาม โกง-ไม่โกง
?เคลื่อนไหวทางการเมืองมาพอสมควร สรุปสิ่งที่พบเห็นได้อย่างไร
“ผมว่าอยู่ที่พื้นฐานว่าคนคนนั้นเป็นคนโกงหรือไม่ เพราะตอนนี้เราพิสูจน์ได้แล้วว่า รวยแล้วไม่โกงนั้น...ไม่จริง ต้องเขียนใหม่ว่า รวยด้วยความสุจริตเขาจะไม่โกง แต่ถ้ารวยมาจากการทุจริตคือ...โกง ปัญหาอยู่ที่ เราไม่รู้ว่าเขาโกงหรือเปล่า วันก่อน อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ ว่าผมว่าคุณก็รู้ว่าเขาโกง คุณก็เคยไปเชียร์เขาอยู่เลย ผมก็เลยสวนกลับไปว่า อาจารย์จะเชื่อผมหรือเปล่า ผมไม่รู้ เมื่อปี 44 ผมเป็นชาวบ้านธรรมดา เลยแค่อยากให้โอกาส ถ้ารู้ข้อมูลแบบปัจจุบันว่าได้ดาวเทียมมายังไง มีการแลกเช็คยังไง เคยโกงสมัยเป็นชินวัตรคอมพิวเตอร์ยังไง เคยโกงประปานครหลวงยังไง ถ้ารู้แบบนี้ไม่รอด ผมจะเดินหน้าสู้เลย เพราะผมไม่ชอบคนโกง ยิ่งเดี๋ยวนี้มีการโกงที่ไม่ธรรมดา เอาคนไปอยู่ในตำแหน่ง สส.หรือตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีอำนาจ ก็จะมีผลประโยชน์มหาศาล ผมจำพระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จ.ชลบุรี 11 ธันวาคม 2512 ได้ดี
"ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครทำทุกคนให้เป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงไม่ใช่อยู่ที่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากอยู่ที่การส่งเสริมคนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้"
พระองค์ทรงมองข้ามช็อตไปเลย 40 ปี ตอนนั้นมีเพื่อนหมอคนหนึ่ง เคยบอกว่าอย่าไปเลือกทักษิณ ผมไม่เชื่อ ไม่เป็นไร ถ้าเขาโกงผมจะไล่เอง ไม่น่าเชื่อว่าผมต้องมาไล่จริงๆ พอมาถึงวันนี้ ผมได้กินข้าวกับเพื่อนคนนี้ เขาบอกว่า หมอนี่เป็นคนพูดจริงทำจริงนะ เชื่อไหมว่าผมลืมประโยคนี้ไปแล้ว
แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นคือนักการเมืองที่ดี จะต้องเป็นคนไม่ทุจริตเสียก่อน ยิ่งทุกวันนี้มีการตรวจสอบคุณสมบัตินักการเมืองที่หละหลวมมาก ขนาดปริญญาบัตรเก๊ ยังตรวจสอบไม่ได้เลย แบบนี้ต้องใส่ตะแกรงร่อนให้มากกว่านี้ ชาวบ้านเขาไม่ค่อยรู้กันหรอก ขนาดผมเป็นหมอโง่ๆ คนนี้ เมื่อปี 44 ยังไม่มีข้อมูลเลย
ผมอยากให้มีการตรวจสอบนักการเมืองแบบเกาหลีใต้ อย่าง โนห์มูเฮียน ฆ่าตัวตาย ขณะที่กำลังถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ภายหลังภรรยาของเขาถูกข้อกล่าวหาว่ารับเงินจากนักธุรกิจ
เราต้องมีคำขวัญร่วมกันว่า เราเกลียดคนโกง เพราะเขาเสียเงินเข้ามาบริหารประเทศ ได้ผลประโยชน์เป็นร้อยๆ เท่า แล้วเราไปยอมกันทำไม อย่างคุณทักษิณแจ้งบัญชีไว้ 20,000 ล้าน ถูกอายัด 70,000 กว่าล้าน ทุกวันนี้ยังเที่ยวปร๋ออยู่เลย ถามว่าเอาเงินที่ไหนไปใช้ แสดงว่าที่ผ่านมาคุณซุกเงินไว้ทั้งหมดใช่ไหม ดังนั้น เราต้องตรวจสอบการเสียภาษีของนักการเมืองตรงนี้เสียก่อน อยู่ๆ ผมไปสมัคร สส. แจ้งบัญชีทรัพย์สิน 100 ล้าน แบบนี้ต้องสมมติแล้วว่าพ่อคุณรวยหรือเปล่า เสียภาษีเท่าไร เช็กความถูกต้องแล้ว ถึงจะปั๊มไปว่า คนนี้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องเอาคลีนๆ ลง ไม่ใช่หมูหมากาไก่ เสาไฟฟ้าก็ลงเลือกตั้งได้ ยิ่งปัจจุบันคนเก่งบ้านเรามีเยอะแล้ว แต่คนที่เก่ง มือสะอาดด้วย มีน้อย”

//อนาคตนักการเมืองหรือไม่
? กิจกรรมที่คุณหมอทำมาค่อนข้างไปทางตรวจสอบ วันหนึ่งจะกระโดดลงสู่สนามการเมือง อย่างเป็นเรื่องเป็นราวไหม
“ชีวิตนี้ผมจะไม่ลงเล่นการเมืองเป็น สส.เด็ดขาด ที่ผ่านมามีคนชวนผมสมัครเป็นสมาชิกพรรคเยอะ แต่ผมไม่เอา บางคนก็ชวนลง สส. แต่ผมไม่ชอบ เพราะการเป็น สส.จะต้องมีวินัยตามระเบียบของพรรค ต้องมีการโหวตภายในพรรคให้เป็นมติออกมา ดูแล้วไม่มีอิสระ ถ้าให้ผมสนใจจริงๆ ก็คงเป็นเรื่องของวุฒิสมาชิก ซึ่งจะได้ทำหน้าที่แล้วมีอิสระทางความคิดเป็นของตัวเอง หรือทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต ตรงนี้ผมสนใจ ที่เป็นการตรวจสอบแบบผิดว่าผิด ถูกว่าถูก อนาคตนักการเมืองไทยที่ทำผิดแบบคุณทักษิณจะต้องได้รับโทษ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกเลือกตั้งมา 20 ล้านเสียง หรือแสนเสียง แม้จะได้มาเพราะเสียงโหวต แต่เสียงโหวตก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนความผิดได้
“เหมือนผมทำคลอดมา 100 คน แล้วผมไปฆ่าคน 1 คน ถามว่าผมผิดไหม ผมต้องผิด จะรับโทษอย่างไร ผิดก็คือผิด คนไทยยังก้าวผ่านตรงนี้ไปไม่ได้ เพราะคนทำผิด ยังมองว่าไม่ผิด ถามผมว่า ผมสนใจการเมืองไหม ผมอยากบอกว่าถ้าเป็น สว.ก็น่าสนใจ เหมือนบทบาทของ พี่รสนา โตสิตระกูล ที่ถือเป็นตัวแทนของคนกรุงเทพฯ ซึ่งเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่ และเป็นความหวังที่จะเดินก้าวไปในอนาคต”
แม้จะเป็นเพียงหนึ่งเสียง แต่หนึ่งเสียงของ “หมอตุลย์” ปลุกเสียงอีกมาก ที่ต่างเรียกร้องหาความเป็นชาติที่มีคุณภาพ “คิดต่างได้ แต่ต้องไปด้วยกัน”



ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ WhO? Magazine ฮู แมกกาซีน
http://www.whoweeklymagazine.com/
สอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์
โทร.086-389-5835
โทรสาร 02-654-7577

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น