เรื่อง : ว.วชิรเมธี
ภาพ : กองบรรณาธิการ
ชีวิตที่สมดุลของผู้บริหาร SCG
ชลณัฐ ญาณารณพ
ผู้บริหารรุ่นใหม่ ชลณัฐ ญาณารณพ ลูกชายคนโตของนักเขียนดัง "กฤษณา อโศกสิน" ในฐานะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เป็นหนึ่งในทีมบุกเบิกเอสซีจี เคมิคอลส์ ตั้งแต่ปี 2528 ปัจจุบันเป็นธุรกิจที่ทำรายได้เป็นอันดับ 1 ให้ SCG คุณชลณัฐมีคำถาม (ปุจฉา) ถึง พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ว่า
“อยากทราบว่าพระอาจารย์บริหารสมดุลระหว่างงานกับเวลาพักผ่อนอย่างไร และผู้บริหารในองค์กรควรบริหารเวลาสำหรับงานและชีวิตส่วนตัว (work-life balance) อย่างไร”
/// พระมหาวุฒิชัย วิสัชนา
ในทางเศรษฐศาสตร์มีคำกล่าวว่า
“โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี”
คำกล่าวนี้ใช้ได้กับการดำเนินชีวิตในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องการทำงานกับการใช้ชีวิต
คนทำงานหลายคนประสบความสำเร็จในการทำงาน มีตำแหน่งใหญ่โต มีชื่อเสียง มีความมั่นคงทางการเงิน พอมีทุกอย่างที่คิดว่าควรจะมีแล้วก็เลยประมาท ทำแต่งาน งาน และงานอย่างมีความสุข แต่ความสุขที่ว่านั้นเป็นความสุขใจ ทว่ากายกลับไม่สุข เพราะไม่ได้พักผ่อน
ผลของคนที่รุ่งโรจน์ในการทำงานเพราะทำงานอย่างเมามันเป็นพายุบุแคมคือ พอทุกอย่างกำลังเจริญรุ่งเรือง ร่างกายก็แสดงอาการอ่อนแอออกมาให้เห็น
กลายเป็นว่าตกอยู่ในสภาพ “งานสัมฤทธิ์ แต่ชีวิตไม่รื่นรมย์”
หรือ “มีเงินมหาศาล แต่ไม่มีสังขารจะใช้เงิน”
ความสำเร็จนั้นมีมนต์ขลังไม่ต่างกับยาเสพติด ใครก็ตามที่ประสบความสำเร็จมากๆ มักเสพติดความสำเร็จ การเสพติดความสำเร็จทำให้อยากทำงานอยู่ตลอดเวลา จนหลงลืมการพักผ่อน เมื่อหลงลืมการพักผ่อน สุขภาพก็เสื่อม ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ รวน เวลากินไม่ได้กิน เวลานอนไม่ได้นอน อยากเข้าห้องน้ำ แต่ไม่อาจปลีกตัวจากการประชุม ใครก็ตามที่ทำงานในสภาพแบบนี้ ระบบ “นาฬิกาชีวิต” จะรวนเร นี่คือต้นทางของภาวะ “งานสัมฤทธิ์ แต่ชีวิตไม่รื่นรมย์”
ทางสายกลางในเรื่องนี้คือ เวลาทำงานและใช้ชีวิตถือหลัก “ทางสายกลาง”
สูตรของความ “รื่นรมย์ในงาน เบิกบานในชีวิต” คือ “การทำงานประสานกับคุณภาพของชีวิตคือผลสัมฤทธิ์ของทางสายกลาง”
ทางสายกลางที่ต้องคำนึงคือ
1. สมดุลงาน สมดุลชีวิต (ทำงานไปด้วย ดูแลสุขภาพไปด้วย)
2. สมดุลกาย สมดุลใจ (ดูแลร่างกาย ดูแลจิตใจ)
3. สมดุลโลก สมดุลธรรม (รู้ทางโลก รู้ทางธรรม)
4. สมดุลส่วนตัว สมดุลส่วนรวม (ทำประโยชน์ตน ทำประโยชน์สังคม)
ชีวิตที่สมดุลคือชีวิตที่บริหารสมดุล 4 คู่นี้ให้ลงตัวอยู่บนทางสายกลาง
ดังนั้นเวลาทำงานซึ่งก็คือเวลาดำเนินชีวิตด้วย ควรถามตัวเองเสมอว่า สมดุลทั้ง 4 นี้ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกันหรือไม่ ถ้าสุดโต่งไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นั่นแสดงว่าแนวโน้มที่ชีวิตจะมีปัญหากำลังเกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าบริหารตัวเองให้อยู่ในสมดุลทั้ง 4 นี้ครบอยู่เสมอ งานก็จะได้ผล คนก็จะเป็นสุข
ผู้เขียนเองก็ใช้สูตรสมดุลงาน สมดุลชีวิต ทั้ง 4 นี้เป็นแนวทางในการทำงานและดำเนินชีวิตอยู่เสมอ ทำให้ชีวิตไม่แบกงานมากเกินไปจนร่างกายเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร และไม่ผ่อนพักมากเกินไปจนกลายเป็นความเฉื่อย
ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น