ตัวแทนผู้บริหารจากโรงพยาบาลชั้นนำผู้สนับสนุนโครงการ First Book ร่วมถ่ายภาพกับคุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ (เรียงจากซ้ายไปขวา โรงพยาบาลลาดพร้าว, โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน, โรงพยาบาลเครือธนบุรี, โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลสมิติเวช)
โครงการ First Book “เล่มแรกของหนู เริ่มที่แพรวเพื่อนเด็ก”
9 กุมภาพันธ์ 2555 - สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก ในเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด(มหาชน) ร่วมกับ 10 โรงพยาบาลชั้นนำ จัดงานเปิดตัวโครงการ First Book “เล่มแรกของหนู เริ่มที่แพรวเพื่อนเด็ก” โครงการที่สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก ในเครืออมรินทร์ จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการใช้หนังสือภาพสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดอย่างต่อเนื่องจนถึงวัยอนุบาล ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมองจะพัฒนาอย่างสูงสุดในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านสติปัญญา ภาษา อารมณ์ สังคม จริยธรรม รวมถึงช่วยเสริมสร้างสายใยความรักความอบอุ่นในครอบครัว
ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “ความสำคัญของเล่มแรกของหนูต่อพัฒนาการของลูกน้อย” โดยแขกรับเชิญพิเศษ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ นักเขียนหนังสือภาพสำหรับเด็กชื่อดัง พร้อมด้วยคุณแม่สาวสวย คุณสุวนันท์ ปุณณกันต์ และ คุณอุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ ดำเนินรายการโดยอภิสรา นุตยกุล
First Book เปรียบได้กับคู่มือการใช้หนังสือเล่มแรกกับลูกของคุณแม่แรกคลอด ซึ่งจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครองในการคัดเลือกหนังสือให้เหมาะกับกับวัยและพัฒนาการของลูกน้อย จัดทำขึ้นเพื่อแจกให้คุณแม่แรกคลอดใน 10 โรงพยาบาลชั้นนำที่ร่วมโครงการ ได้แก่ โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลปิยะเวท, โรงพยาบาลธนบุรี1, โรงพยาบาลธนบุรี2, โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน, โรงพยาบาลบี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์, โรงพยาบาลวิภาวดี, โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลลาดพร้าว
คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ผู้ริเริ่มโครงการ First Book “เล่มแรกของหนู เริ่มที่แพรวเพื่อนเด็ก” กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า “สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็กมุ่งมั่นในการผลิตหนังสือเพื่อเด็กๆ มายาวนานจนเข้าปีที่ 19 แล้ว เรียกว่าอยู่มาตั้งแต่ยุคบุกเบิกหนังสือภาพสำหรับเด็ก มาถึงวันนี้เราอยากให้หนังสือเหล่านี้ขยายไปได้กว้างขึ้น เพื่อให้คุณแม่ได้ตระหนักว่าหนังสือเป็นสิ่งที่มีค่า และจำเป็นสำหรับลูกเพียงไร จึงได้ช่วยกันคิดโครงการ First Book ขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลคือส่วนแรกที่จะช่วยถ่ายทอดและมอบความรู้เหล่านี้ให้กับคุณแม่ตั้งแต่แรกคลอด โดยในเบื้องต้นเราได้รับความร่วมมือจากจาก 10 โรงพยาบาลชั้นนำ ที่ให้การสนับสนุน และเห็นคุณค่าของการส่งเสริมให้คุณแม่ใช้หนังสือกับลูกๆ ซึ่งต้องขอบคุณทุกโรงพยาบาลไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ”
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ให้ความเห็นในฐานะที่คุณหญิงเป็นคุณย่า และประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เกี่ยวกับ ความสำคัญของการใช้หนังสือภาพสำหรับเด็กว่า “ความฉลาดของเด็กๆ จะแพ้ชนะกัน อยู่ที่ช่วงก่อนเข้าโรงเรียน เด็กๆ ที่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ช่างพูดช่างคุยกับลูก และให้ความสำคัญในการปลูกฝังการอ่านตั้งแต่ยังเล็ก จะมีคลังคำในสมองมากกว่าเด็กๆ ที่อยู่ในครอบครัวที่เงียบๆ ไม่ค่อยพูดคุยกันหลายเท่า ซึ่งการอ่านหนังสือให้ลูกฟังก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้เด็กๆ มีสิ่งเหล่านี้ได้”
ในด้านของนักเขียนหนังสือภาพสำหรับเด็กชื่อดัง อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ กล่าวถึงวิธีใช้หนังสือภาพกับเด็ก ๆ ว่า “อย่างแรกคือผู้เขียนจะต้องมีความเป็นเด็ก มีจินตนาการ เพื่อสื่อสารกับเด็กได้อย่างสนุกสนาน ชวนเด็กๆ เข้าสู่โลกจินตนาการ และวิธีการใช้หนังสือสำหรับคุณแม่ และคนในครอบครัว แค่ให้นั่งตัก เปิดหนังสือค่อยๆ ไปทีละหน้า เท่านั้นก็ดีที่สุดแล้วครับ แต่ถ้าเป็นครูต้องมีชีวิตชีวาทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุก และมีส่วนร่วมด้วย
ภายในเล่ม First Book ประกอบด้วยเนื้อหาที่เป็นประโยชน์มากมายทั้งความสำคัญของหนังสือเล่มแรก, การเลือกหนังสือให้เหมาะกับเด็กวัยต่าง ๆ , เทคนิคการเล่านิทานให้เด็กฟัง และตัวอย่างนิทาน พร้อมแนะนำชุดหนังสือของสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็กที่คัดสรรแล้วว่าเหมาะสมกับพัฒนาการแต่ละด้านของเด็ก ๆ ซึ่งเชื่อถือได้ในคุณภาพทั้งในด้านของเนื้อหาและนักเขียนที่มีความเชี่ยวชาญ
คุณสุวนันท์ ปุณณกันต์ กล่าวถึงการปลูกฝังการรักการอ่านให้กับลูกว่า “ เริ่มอ่านหนังสือให้เค้าฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง พอน้องคลอดออกมาแล้วเริ่มอ่านอีกทีตอนประมาณ 2 เดือน รู้สึกว่าอยากจะปลูกฝังให้เค้าเป็นเด็กรักการอ่าน ยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะต่อไปในโลกมีสิ่งเร้ามากมาย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นความรู้จะทำให้เค้าดูแลตัวเองได้ เวลาที่เราอ่านให้ลูกฟังจะจับเค้านั่งตัก เปิดทีละหน้า ค่อยๆ อ่านให้เค้าฟัง บางคนอาจจะคิดว่าเค้าไม่รู้เรื่อง แต่กบว่าเค้ารู้ และเค้ามีความสุข เค้าจะเรียนรู้ว่าจับยังไง เปิดยังไง ได้เรียนรู้เรื่องคำต่างๆ จากการอ่านหนังสือ อย่างเช่นเรื่อง อีเล้งเค้งโค้งไปอยุธยา หรือ คุณกลมๆ เล็กๆ ที่จะมีคำซ้ำ ๆ กันให้เด็กได้คุ้นเคยกับเสียงขึ้น-ลง และจินตนาการกับรูปทรง กลมๆ เล็ก บางทีเค้าก็จะพูดและขยับปากตามไปด้วย กบเชื่อว่าผู้เขียนได้สอดแทรกสิ่งต่างๆ ลงไปมากกว่าความรู้ โดยเฉพาะหนังสือเด็กจะพัฒนาจิตใจ อารมณ์ อุปนิสัย และวินัยด้านต่างๆได้”
คุณอุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ ที่มาพร้อมกับลูกสาว เด็กหญิงอิสรีย์-เด็กหญิงอทิตา มหากิจศิริ ลีโอณีโอ กล่าวถึงประสบการณ์การใช้หนังสือกับสาวน้อยทั้ง 2 ว่า “เห็นผลได้ชัดจากการเริ่มอ่านให้ฟังตั้งแต่เล็กๆ จนตอนนี้เค้าเริ่มเลือกหนังสือเองแล้ว เวลาไปศูนย์การค้าก็จะพาไปร้านหนังสือ ถ้าไปที่อื่นๆ เค้าก็จะไปตรงที่มีหนังสือและนั่งอยู่เป็นมุมของเค้าเอง หรือถ้าไปซื้อของก็จะให้เลือกกลับบ้านคนละเล่มแทนการเลือกเสื้อผ้า ตุ๊กเชื่อว่าถ้าเค้ารักการอ่านตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเค้าจะมีนิสัยที่ดีและพัฒนาตนเองได้ในอนาคตค่ะ”
คุณระริน ได้กล่าวถึงความตั้งใจของแพรวเพื่อนเด็กที่จะขยายโครงการต่อไปโดยกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด และทิ้งท้ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่ยังเล็กว่า “การอ่านหนังสือเป็นสิ่งเริ่มต้นของพัฒนาการและการเติบโตไปเป็นบุคคลที่มีคุณภาพในสังคม ฝากไปถึงทุกภาคส่วน ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ ที่ต้องให้เวลากับลูก ลงทุนกับลูกในช่วง 2 ปีแรก และจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในอนาคตด้วย เพราะเด็กๆ ก็คือหน่วยเล็ก ๆ ของสังคม สำนักพิมพ์แพรวเพื่อเด็กเอง เราก็มุ่งมั่นจะผลิตหนังสือดี มีคุณภาพ ให้มีความหลากหลายเพื่อเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ให้กับคุณพ่อคุณแม่ต่อๆ ไป”
นอกจาก First Book จะแจกให้กับคุณแม่แรกคลอดในโรงพยาบาลชั้นนำที่ร่วมโครงการแล้ว ยังแจกเป็นพิเศษให้กับสมาชิกของสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็กที่รับสมัครในกิจกรรมของสำนักพิมพ์เอง ตลอดจนงานแฟร์เกี่ยวกับแม่และเด็กๆ ที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี โดยมุ่งหวังให้คู่มือเล่มนี้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองและเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างนิสัยรักการอ่านของเด็กในอนาคต
*** หนังสือของสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก มีจำหน่ายแล้วตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ***
โทร: 0-2422-9999 ต่อ 4148 Email: ramita@amarin.co.th www.amarinpocketbook.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น