นิตยสาร WhO?
เรื่อง : ว.วชิรเมธี
ภาพ : กองบรรณาธิการ
มวลปัญญาที่เหนือกว่ามวลน้ำ
มองวิกฤตให้เป็นครู... กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร
ยืนหยัดในวงการอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามานานจนได้รับการยกย่องให้เป็นผู้หญิงเก่งแถวหน้าของเมืองไทย กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธาน/กรรมการบริหาร โตชิบา ไทยแลนด์ เผชิญวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ จึงมีคำถาม (ปุจฉา) ถึง พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ว่า “ถูกน้ำท่วมหนักแบบนี้ จะช่วยให้เราไม่ทุกข์ใจอย่างไรได้บ้าง และอีกคำถาม ผู้หญิงอย่างเราจะทำอย่างไรในการสอนให้คนไทยได้เข้าใจและลงมือทำในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพราะน่าจะเป็นเรื่องที่เราทุกคนทำได้”
พระมหาวุฒิชัย วิสัชนา
การแก้ปัญหาน้ำท่วมหนักควรทำ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
1. สังคมสงเคราะห์เฉพาะหน้า คือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้ผ่านพ้นภัยพิบัติไปได้ ทั้งด้วยของ และด้วยขวัญ
“ของ” คือ ข้าวของเครื่องใช้
“ขวัญ” คือ กำลังใจ
2. เยียวยาและฟื้นฟูหลังน้ำลด คือ ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนให้สามารถตั้งตัวได้ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การงาน และบ้านเรือน
3. จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน คือ ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทในการป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืนระยะยาวเป็น 100 ปี 500 ปี หรือ 1,000 ปี เหมือนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ทำสำเร็จมาแล้ว
ส่วนทำอย่างไรจะไม่ให้ใจมีทุกข์หรือทุกข์น้อยที่สุด ก็ขอแนะนำว่า
1. เปิดใจเรียนรู้สัจธรรมของชีวิตว่า ชีวิตของเรานั้นแขวนอยู่บนเส้นด้ายของความไม่แน่นอน เราต้องการอย่างหนึ่ง แต่ชีวิตได้พบอีกอย่างหนึ่ง เราไม่อยากให้น้ำท่วม แต่น้ำอาจท่วม เราต้องการความสำเร็จ แต่เราอาจพบแต่ความล้มเหลว ชีวิตไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราต้องการเสมอไป แต่เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ถ้าเข้าใจว่าเราไม่อาจได้ทุกอย่างดั่งใจหวัง และไม่ม่มีใครพลาดหวังทุกอย่างไป ความทุกข์เพราะความคาดหวังจะลดน้อยลงไป
2. มองวิกฤตให้เป็นครู ที่จู่โจมมาสอนให้เราเกิดการตื่นตัว ตื่นรู้ เพื่อปรับใจ ปรับตัว ปรับพฤติกรรมให้ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท
3. เชื่อมั่นว่า ไม่ว่าวิกฤตจะหนักหนาแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายทุกอย่างก็จะผ่านพ้นไปอย่างแน่นอน ไม่มีวิกฤตไหนอยู่อย่างนั้นเป็นนิรันดร์ สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นจะดับลง นี่เป็นสัจธรรม
ส่วนการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นนั้น ควรร่วมกันผลักดันให้เป็น “วัฒนธรรมต้านคอร์รัปชั่น” ทั้งประเทศ จนคนได้ยินคำว่า “คอร์รัปชั่น” แล้วรู้สึกเกลียด ไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากยุ่งเกี่ยว ตอนปี 2540 เราเคยรณรงค์ให้คนไทยมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจนคนตื่นตัวกันทั้งประเทศได้สำเร็จมาแล้ว ด้วยวิธีการเดียวกัน เราน่าจะนำมาทำให้คนตื่นตัวเรื่องคอร์รัปชั่น และร่วมกันต่อต้านจนกลายเป็นวัฒนธรรม “เมืองไทยไม่มีคอร์รัปชั่น”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น