นิตยสาร WhO?
เรื่อง : ว.วชิรเมธี
ภาพ : กองบรรณาธิการ
คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล
ผู้หญิงจรรโลงพุทธศาสนา
เป็นสุภาพสตรีที่เก่งและแกร่งในแวดวงธุรกิจมานาน สำหรับ คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด และที่ปรึกษา เดอะบาราย โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน ขณะเดียวกันงานภาคสังคม เธอยังดำรงตำแหน่งประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงในทุกด้าน โดยเฉพาะเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เหตุนี้จึงมีคำถาม(ปุจฉา) ถึง พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี)ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ว่า
“ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีชาวพุทธจำนวนมาก สภาสตรีแห่งชาติฯ ในฐานะที่เป็นองค์กรสตรีที่มีเครือข่ายเป็นสมาคมสตรีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศดูแลองค์กรสมาชิก 194 องค์กร จึงอยากเรียนถามเป็นข้อคิดว่า ผู้หญิงไทยปัจจุบันซึ่งเป็นผู้แบกรับภาระหน้าที่มากมายหลายด้าน ทั้งในและนอกบ้าน แต่ก็มีความใส่ใจในเรื่อง ศาสนาไม่น้อย ท่านมีความเห็นว่าผู้หญิงควรมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการช่วยจรรโลงพุทธศาสนา ให้ยั่งยืนได้อย่างไร โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ให้สนใจการมีส่วนร่วม”
/// พระมหาวุฒิชัย วิสัชนา
พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ยอมรับในศักยภาพของสตรี ว่ามีอยู่อย่างไม่ด้อยไปกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพในทางสติปัญญา ทั้งยังเปิดพื้นที่ทางศาสนาให้กับสตรีอย่างชนิดที่เรียกได้ว่า ไม่เคยมีศาสนาแต่โบราณศาสนาใดทำได้มาก่อนเลยก็ว่าได้
การยอมรับศักยภาพทางสติปัญญาของสตรีมีตัวอย่าง เช่น การที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสว่า “ใช่จะมีแต่บุรุษเท่านั้นที่เป็นบัณฑิต แต่สตรีที่มีวิจารณญาณ ก็สามารถเป็นบัณฑิตได้เช่นเดียวกับบุรุษ” หรือ การที่พระองค์ตรัสยืนยันว่า “หากสตรีได้เข้ามาบวชนพระธรรมวินัยหรือในพุทธศาสนา ก็จะสามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้เช่นเดียวกับบุรุษ” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า “ถ้าสตรีบวช ก็สามารถเป็นพระอรหันต์ได้เหมือนกัน”
การยอมรับในศักยภาพของสตรีเช่นนี้ เป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าทางด้านพุทธศาสนาในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เพราะในสังคมอินเดียโบราณ สตรีมีค่าเป็นเพียง “วัตถุ” ในสายตาของผู้ชายเท่านั้น แนวคิดนี้เป็นไปเข้มข้นรุนแรงถึงขนาดที่ว่า หากสามีตาย ภรรยาก็ต้องกระโดดเข้ากองเพลิงตายตามสามีไปด้วย หรือหากเธอไม่กล้ากระโดดเอง ญาติๆ ก็ต้องจับเธอโยนเข้าไปในกองไฟ การที่ทำอย่างนี้ก็เพราะสตรีเป็นเพียง “สมบัติ” ส่วนตัวของสามีหรือของบุรุษ ชะตากรรมของเธอนั้น สุดแต่บุรุษจะบังคับบัญชา ท่าทีที่บุรุษเป็นใหญ่เหนือสตรีอย่างนี้เราเรียกว่าลัทธิ “ปิตาธิปไตย”
ภายหลังตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงประกาศความจริง ซึ่งทะลุกรอบคิดของสังคมแบบเดิมออกไป ด้วยการยอมรับศักยภาพของสตรีตามความเป็นจริง และในทางปฏิบัติ พระองค์ก็ยังทรงเปิดโอกาสให้สตรีได้เข้ามาบวชเป็นภิกษุณีอีกด้วยแน่นอนว่า การแหวกม่านประเพณีอย่างนี้สั่นสะเทือนสังคมอินเดียโบราณอย่างรุนแรง แต่ก็นับเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อศักยภาพทางอันแท้จริงของสตรีตามที่ธรรมชาติมอบให้มาอย่างตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว จากอดีตมาถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้พื้นที่ของสตรีเหล่านั้น เป็นต้นว่า อินทิรา คานธี เป็นต้น ก็ได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นแล้วว่า ผู้หญิงก็เป็นผู้นำได้ ผู้หญิงก็เป็นปัญญาชนได้
มาถึงเมืองไทยของเรา หากเราต้องการให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในวงการศาสนาหรือในวงการพัฒนาสังคม เราก็ต้องยอมรับศักยภาพของผู้หญิงตามความเป็นจริง ละวางมายาคติ “ปิตาธิปไตย” ที่ถือกันว่า โลกใบนี้เป็นโลกของผู้ชายลงเสีย แต่หันมายอมรับตามความเป็นจริงว่า โลกใบนี้เป็นของผู้ชายพอๆกับที่เป็นของผู้หญิงนั่นแหละ จากนั้นก็มาช่วยกันพัฒนาผู้หญิงไทยให้มี “การศึกษา” ที่ดี เพราะด้วยการศึกษาที่ดีเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้หญิงมี “สติปัญญา” ที่จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ หากผู้หญิงไม่ได้รับการศึกษาที่ดีเท่าที่ควร ครั้งเข้ามาบวชเป็นแม่ชี ก็มักจะถูกลดบทบาทไปเป็น “แม่ครัว” ทุกที แต่หากแม่ชีคนไหนมีการศึกษาดี จากแม่ครัว ก็อาจกลายเป็น “แม่ทางจิตวิญญาณ” ของประชาชนจำนวนมากมาย เช่นเดียวกับแม่ชี เทเรซ่า ก็เป็นได้
พุทธศาสนา ยอมรับในศักยภาพทางสติปัญญาและเปิดพื้นที่ ทางศาสนากับให้กับสตรีมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ถ้าเราร่วมกันพัฒนากุลสตรีของเราให้มีความรู้ดี มีการศึกษาดี สตรีไทยจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมได้อย่างยอดเยี่ยมเลยทีเดียว ผู้เขียนเคยเขียนกวีนิพนธ์ถึงสตรีไว้นานมาแล้ว ขอคัดมาฝากดังต่อไปนี้
“มารดามหาบุรุษ”
ผู้หญิงเป็นมารดามหาบุรุษ
เป็นพระพุทธก็เป็นได้ไม่น้อยหน้า
เป็นผู้นำยุคสมัยในโลกา
เป็นภรรยาสุดแสนดีสามีรัก
เป็นผู้อวดองค์อรชรชวนชม้าย
เป็นสหายแห่งชีวิตสัทธิ์ศักดิ์
เป็นแม่ทัพนำไทยให้คึกคัก
เป็นเสาหลักการเมืองเรืองฤทธิ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น