สุทธิคุณ กองทอง หนุ่ม

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ล้านแรงศรัทธาร่วมอาลัย






เรื่อง:กองบรรณาธิการ WhO?

ภาพปก: ดิสสกร กุนธร

ภาพ:นพพล ภาคสุทธิผล พัฒนฉัตร มุลวงศ์ศรี

ขอบคุณ : คณะผู้จัดทำ หนังสือหลวงตานิพพาน

Intro…เล่าลือกันว่าหลวงตามหาบัว แห่งวัดป่าบ้านตาด เป็นพระอัครอรหันต์

ขณะยังมีชีวิตอยู่นอกจากเป็นพระเกจิอาจารย์ในสายปฏิบัติแล้ว

ยังมีปฏิบัติการช่วยชาติด้วยการรับบิณฑบาตทองคำ เพื่อให้ประเทศพ้นหายนะ

เป็นที่เคารพเลื่อมใสแก่ชนทั่วไป แม้กระทั่งทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ ยังทรงเป็น “ลูกบุญธรรม”

เสียงสะอื้นร่ำไห้ดังระงมในหัวใจพุทธศาสนิกชน เมื่อมีประกาศว่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด หรือพระธรรมสุทธิมงคล แห่งวัดป่าเกสรศีลคุณ อุดรธานี ละสังขารเสียแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2554 เวลา 03.53 นาฬิกา สิริรวมอายุได้ 97 ปี 5 เดือน 18 วัน อยู่ในสมณเพศมา 77 พรรษา

ก่อนหน้านี้เล่ากันภายในศิษยานุศิษย์ที่ใกล้ชิดว่า แท้จริงแล้วหลวงตามหาบัวหมดอายุขัยตั้งแต่มีอายุได้ 80 ปี เนื่องจากช่วงนั้น หลวงตามหาบัวอาพาธหนักมาก ด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 4 กระทั่งท่านได้สั่งการให้เตรียมสร้างเมรุเพื่อปลงสังขารของท่านเองที่วัดป่าบ้านตาดไว้เรียบร้อยแล้วด้วย

แต่ช่วงนั้น เป็นเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยกำลังประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ในปี 2540 หลวงตามหาบัวสงสารลูกหลานไทยว่า จะถึงความพินาศวอดวายกันหมดทั้งชาติไปเสียเปล่า ท่านจึงต้องเจริญ “อิทธิบาทภาวนา" ต่ออายุองค์ท่านเองด้วยกำลังฌาณและอรหันตฤทธิ์ ที่ทรงอานุภาพอย่างเยี่ยมยอด จนสามารถระงับยับยั้งอาการอาพาธจากมะเร็งขั้นสุดท้าย ให้สงบราบคาบได้เหมือนปลิดทิ้ง อีกทั้งยังมีกำลังวังชาแข็งแกร่งเหมือนมิได้เป็นอะไรมาก่อน กระทั่งสามารถออกบิณฑบาตทองคำและดอลล่าร์ เพื่อ"ช่วยชาติ"ให้พ้นจากหายนะจนประสบผลสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์

และเมื่อท่านเตรียมละสังขารในครั้งนี้ ท่านก็เทศน์ไว้ให้รู้ทั่วกันว่า... “วาระสุดท้ายของเรา ที่จะช่วยโลกอย่างเต็มหัวใจ เพราะหลังจากนี้ เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว...จะเป็นวาระสุดท้ายของเรา ที่ตายกองกันในวัฏจักรนี้กี่กัปป์กี่กัลป์มา เราเคยตายมาแล้วกี่ภพกี่ชาติ คราวนี้เลิกกัน”

##พระอัครอรหันต์แห่งยุค

หลวงตามหาบัว(บัว โลหิตดี)เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2456 ในครอบครัวชาวนาผู้มีอันจะกินของบ้านตาด มีพี่น้อง 16 คน เล่าว่าหลวงตามหาบัวเคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาแต่เด็ก โดยได้ร่วมทำบุญตักบาตรกับผู้ใหญ่อยู่เสมอๆ เมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของครอบครัว ขยันขันแข็ง ทำงานอะไรทำจริง ๆ จัง ๆ เป็นที่ไว้วางใจของพ่อแม่ ส่วนสาเหตุที่ออกบวชทั้งที่แต่เดิมไม่เคยคิดจะบวช เพราะอยากมีครอบครัว นั้น เป็นเพราะเมื่ออายุครบ 20 ปี พ่อแม่ขอร้องให้บวชตามประเพณีอยู่หลายครั้ง แต่ท่านก็ทำเฉย ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ จนเมื่อเห็นน้ำตาพ่อแม่ที่หวังพึ่งใบบุญผ้าเหลืองจากลูก ก็รู้สึกสะเทือนใจและเห็นใจพ่อแม่มาก จึงตัดสินใจยอมบวชตามประเพณีเพื่อตอบแทนพระคุณ โดยบวชเมื่อ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ณ วัดโยธานิมิตร อุดรธานี และตั้งใจว่าจะบวชเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น

แต่ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นมาก เมื่อบวชไปได้พักหนึ่งจึงตั้งใจบวชเพื่อเอาบุญกุศลจริง ๆ และตั้งใจรักษาสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่อย่างเคร่งครัด อาทิ ในพรรษาแรกท่านได้ตั้งสัจอธิษฐานว่า จะทำวัตรเช้า-เย็นรวมและการบิณฑบาตทุกวัน ไม่ให้ขาดเลย ท่านก็ทำได้ตามที่ตั้งคำสัตย์ไว้

หลังเล่าเรียนปริยัติธรรม หลวงตามหาบัวมีโอกาสได้ศึกษาประวัติพระสาวกอรหันต์ ที่ต่างก็บำเพ็ญเพียรในป่าเขาอย่างจริงจังหลังฟังโอวาทสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงเกิดความเลื่อมใสอยากจะเป็นพระอรหันต์ พ้นจากทุกข์ทั้งปวงในชาตินี้อย่างพระศาสดาและพระสาวก จึงตั้งสัจจะไว้ว่า จะขอเรียนบาลีให้จบแค่เปรียญ 3 ประโยคเท่านั้น จากนั้นจะออกปฏิบัติกรรมฐานโดยเคร่งครัด จะไม่ยอมศึกษาและสอบประโยคต่อไปเป็นอันขาด แต่ในที่สุดท่านก็สอบได้ทั้งนักธรรมเอกและเปรียญ 3 ประโยคในปีที่ท่านบวชได้ 7 พรรษา ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ และสถานที่แห่งนี้เอง เป็นที่ที่ท่านได้มีโอกาสพบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งต่อมา ได้กลายเป็นพระอาจารย์องค์สำคัญที่สุดในชีวิตของท่าน

เมื่อท่านจะออกปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง ท่านจึงมุ่งหน้าไปทางป่าเขาแถบจังหวัดนครราชสีมา เข้าจำพรรษาที่อำเภอจักราช ในพรรษาที่ 8 ของการบวช ตลอดพรรษาท่านเร่งความเพียร โดยไม่ทำการงานอื่นใดทั้งสิ้น มีแต่ทำสมาธิภาวนา-เดินจงกรมอย่างเดียวทั้งวันทั้งคืน จนจิตได้รับความสงบจากสมาธิธรรม ระหว่างนั้น แม้มีพระเถระผู้ใหญ่เมตตาตามไปสั่งให้กลับเข้าเรียนบาลีต่อที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและตัดสินใจเด็ดขาดที่จะพ้นทุกข์ให้ได้ภายในชาตินี้ ท่านจึงหาโอกาสปลีกตัวออกปฏิบัติอีกวาระหนึ่ง จนเดือนพฤษภาคม 2485 ท่านก็ขอไปศึกษากับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งบังเอิญที่มีกุฏิพักว่างลงพอดี พระอาจารย์มั่นจึงเมตตารับไว้ และเทศน์สอนตรงกับปัญหาที่เก็บความสงสัยฝังใจมานาน ให้คลี่คลายไปได้ว่า...ดินฟ้าอากาศแร่ธาตุต่างๆ เขาเป็นของเขาเอง มิได้เป็นมรรคผลนิพพาน มิได้เป็นกิเลส แต่กิเลสจริง ๆ มรรคผลนิพพานจริง ๆ อยู่ที่ใจ หากกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่ใจแล้ว จะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรม ทั้งกิเลสในใจ ขณะเดียวกันก็จะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับ

หลังจากได้ศึกษากับผู้รู้จริงและโหมเพียรภาวนาเต็มกำลัง ตลอดรุ่งถึง 9 คืน 10 คืนโดยเว้น 2 คืนบ้าง 3 คืนบ้าง จนก้นของท่านระบมจนถึงกับแตกพองเลอะเปื้อนสบงเลยทีเดียว จิตที่เคยเสื่อมก็กลับเจริญขึ้น ๆ จนสามารถตั้งหลักได้ ทั้งท่านมักจะถูกจริตกับการอดอาหาร เพราะท่านว่าทำให้ตัวเบา ภาวนาง่ายสะดวก และจิตใจเจริญขึ้นได้ดี บางครั้งจึงมักงดฉันอาหารติดต่อกันเป็นเวลานาน คราวหนึ่งท่านออกวิเวกแถบป่าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านไม่เห็นท่านออกบิณฑบาตนานจนผิดสังเกต ถึงขนาดหัวหน้าหมู่บ้านต้องตีเกราะเรียกประชุมกัน ด้วยลือกันว่าไม่ใช่ท่านตายแล้วหรือ...ก็เคยมี

ช่วงบำเพ็ญเพียร สภาพร่างกายของท่านจะซูบผอมจนผิดสังเกต ชนิดหนังหุ้มกระดูก ผิวซีดเหลืองจนพระอาจารย์มั่นก็เคยทัก แต่เป็นการพูดให้กำลังใจเพื่อให้มุ่งมั่นในการต่อสู้กับกิเลส ท่านว่า ถ้ากิเลสไม่ตาย เราก็ต้องตาย จะให้อยู่เป็นสอง...ระหว่างกิเลสกับเรานั้น ไม่ได้

หลวงตามหาบัวทรงภาวะนี้นานถึง 5 ปี ไม่ขยับก้าวหน้าต่อ จนพระอาจารย์มั่นต้องให้อุบายอย่างหนักเพื่อให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา ทั้งทางอสุภะ(ซากศพ) กระทั่งถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด จนสามารถรู้เรื่องรู้ราว ฆ่ากิเลสตัวนั้นตัวนี้ได้โดยลำดับ ซึ่งหลวงตามหาบัวก็เพลิดเพลินในความเพียรเพื่อฆ่ากิเลส จนเดินจงกรมไม่รู้จักหยุด ตั้งแต่เช้าหลังจังหันจนกระทั่งปัดกวาดในตอนบ่าย ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่เมื่อพระอาจารย์มั่นมรณภาพ เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2492 ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร หลวงตามหาบัวก็เศร้าสลดสังเวชใจมาก ด้วยรู้สึกว่าหมดที่พึ่งทางใจแล้ว ท่านจึงพยายามปลีกตัวจากหมู่คณะ อยู่ป่าเขาตามลำพัง มุ่งอยู่กับความเพียรตลอด สติแนบแน่นกับจิตเป็นอัตโนมัติด้วยภาวนามยปัญญา

มีอยู่คราวหนึ่งที่ท่านออกวิเวก ชาวบ้านป่วยล้มตายวันหนึ่ง ๆหลายคน จนท่านต้องสวดเมตตาสวด กุสลา มาติกา ให้คนตายที่ป่าช้าจนไม่มีเวลาลุกไปไหน จู่ ๆ ท่านก็ป่วยด้วยโรคที่ชาวบ้านเรียกว่าขัดหัวอกเข้าบ้าง ท่านจึงขอหลบไปนั่งสมาธิภาวนาต่อสู้กับทุกขเวทนาใหญ่นี้ด้วยธรรมโอสถ ด้วยการพิจารณาอริยสัจ ผลปรากฏว่าพิจารณาตก โรคหายเป็นปลิดทิ้งในเที่ยงคืนนั้นเอง จากนั้นไม่นานท่านก็มุ่งสู่วัดดอยธรรมเจดีย์ (ปัจจุบันอยู่ อ.โคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร) ในช่วงพรรษาที่ 16 ของท่าน คืนเดือนดับแรม 14 ค่ำ เดือน 6 (จันทร์ 15 พฤษภาคม 2493) เมื่อเวลา 5 ทุ่มตรง ท่านก็บรรลุธรรมด้วยความอดทนพากเพียร พยายามอย่างสืบเนื่องตลอดมา นับตั้งแต่วันออกปฏิบัติกรรมฐานอย่างเต็มกำลังรวมเวลา 9 ปี

คืนแห่งความสำเร็จระหว่างกิเลสกับธรรมภายในใจของท่าน ตัดสินกันลงได้ด้วยความประจักษ์ใจ หายสงสัยทุกสิ่งอย่าง ทั้งเรื่องชาติภพ เกิด แก่ เจ็บ ตาย กิเลสตัณหา อาสวะทุกประเภทได้ขาดกระเด็นออกไปจากใจในคืนวันนั้นเอง ท่านเคยเล่าให้พระภิกษุในวัดป่าบ้านตาดฟังว่า "เกิดความสลดสังเวชภพชาติแห่งความเป็นมาของตน และเกิดความอัศจรรย์ในพระพุทธเจ้า พระสาวกอรหันต์ที่ท่านหลุดพ้นไปแล้ว ท่านก็เคยเป็นมาอย่างนี้ เราก็เป็นมาอย่างนี้ แต่คราวนี้เป็นความอัศจรรย์ในวาระสุดท้าย ได้ทราบชัดเจนประจักษ์ใจ เพราะตัวพยานก็มีอยู่ภายในจิตนั้นแล้ว แต่ก่อนจิตเคยมีความเกี่ยวข้องพัวพันกับสิ่งใด บัดนี้ไม่มีสิ่งใดจะติดจะพัวพันอีกแล้ว..."

เหล่าพระเถระผู้ใหญ่และพระเกจิอาจารย์หลายท่าน เคยกล่าวถึงหลวงตามหาบัว ไว้ ดังนี้

"ในอนาคตเบื้องหน้า พระมหาบัวผู้นี้จักทำประโยชน์ใหญ่ให้แก่ประเทศชาติและพระศาสนา..." พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ พระบุพพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานกล่าวพยากรณ์ไว้เมื่อปี 2482

"ถ้าไม่(ทรงคุณธรรม)"ถึงขั้น"จริงๆแล้วละก็ จะถามปัญหาแบบนี้ไม่ได้หรอก" หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ กล่าวชมหลวงตามหาบัวในการสนทนาถามปัญหาธรรมครั้งหนึ่ง

"หลวงตามหาบัวเป็นพระอรหันต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ พันเปอร์เซ็นต์...เป็นพระอรหันต์อันดับหนึ่งของประเทศไทย เพราะมีบารมีมากเหนือใครๆ ฤทธิ์ก็เยอะ" หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก วัดทุ่งสามัคคีธรรม สุพรรณบุร

"หลวงตามหาบัวเคยเล่าให้หลวงตาพุธฟังครั้งหนึ่งว่า...แต่ก่อนนั้น หลวงตาอยากเป็นพระ เมื่อได้บวช สมใจแล้ว ต่อมาอยากเป็นพระมหา สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ก็ได้ชื่อว่า"มหาบัว"สมดังปรารถนาแล้ว
ต่อมาเมื่ออยากเป็นพระนักปฏิบัติ ก็ออกธุดงค์วัตรปฏิบัติธรรม ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระนักปฏิบัติแล้ว ครั้นสุดท้าย หลวงตาอยากสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเต็มกำลัง แต่...คราวนี้ "ความอยากเป็นพระอรหันต์"ไม่รู้หายไปไหนหมดแล้ว..."
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ได้สรุปไว้ในตอนท้ายว่า
"
นี่แหละ ท่านผู้เป็นพระอรหันต์ หมดอาสวกิเลสแล้วอย่างแท้จริง ย่อมเป็นอย่างนี้นี่แล"

##สิ่งต้องห้ามแห่งวัดป่าบ้านตาด

หลวงตามหาบัวกลับคืนถิ่นกำเนิดและสร้างวัดป่าบ้านตาดขึ้นเมื่อปี 2498 และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเป็นวัดในพุทธศาสนาเมื่อ 17 กันยายน 2513 ให้ชื่อว่า วัดเกษรศีลคุณ ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ ประมาณ 16 กิโลเมตรโดยมีศรัทธาญาติโยมชาวบ้านตาดถวายพื้นที่ในกำแพงล้อมรอบ ประมาณ 163 ไร่ ต่อมามีผู้ซื้อที่รอบกำแพงถวายอีกหลายแปลงรวมทั้งที่ทางวัดซื้อเพิ่มอีก รวมประมาณ 300 ไร่

วัดป่าบ้านตาดไม่มีป้ายบอกชื่อ แต่อาศัยความสงบเรียบง่าย ร่มครึ้มด้วยต้นไม้สูงใหญ่นานาพันธุ์ เป็นการบอกกลายๆ ภายในเป็นเขตอภัยทานแก่สัตว์หลากชนิด อาทิ ไก่ป่า กระรอก กระแต กระต่าย เต่า แย้ นก ฯลฯ
เมื่อก้าวย่างเข้าสู่บริเวณวัด จะพบศาลาการเปรียญซึ่งเป็นศาลาไม้หลังใหญ่ เดิมเป็นศาลาชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย แต่ภายหลังถูกยกให้สูงขึ้น 2 ชั้น เพื่อสามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงตามหาบัวด้วย ส่วนด้านล่างใช้เป็นที่สำหรับฉันภัตตาหารเช้า และแสดงธรรมเทศนาและปฏิสันถารกับฆราวาสญาติโยม ที่มาจากทุกสารทิศอย่างไม่ขาดสายไม่เว้นแต่ละวัน
ส่วนศาลาใหญ่ด้านนอกกำแพง สร้างเสร็จเมื่อปลายปี 2544 โดยผู้มีจิตศรัทธาขอสร้างถวาย ซึ่งหลังจากที่เห็นว่าเกี่ยวกับงานช่วยชาติที่จัดหลายๆ ครั้ง เช่น กฐินช่วยชาติ ฯลฯ ทำให้ญาติโยมจากทุกสารทิศไม่มีที่พักอาศัย ทั้งยังเป็นที่ร่มยามมีงานตามวาระต่างๆ หลวงตาจึงเมตตาให้สร้างถวายได้

ส่วนกุฏิของพระภิกษุสามเณร สร้างเป็นกุฏิเรียบง่าย พอแก่การกันแดดกันฝน สูงจากพื้นดิน ประมาณ 1 เมตร เพื่อกันการรบกวนจากสัตว์เลื้อยคลาน และความชื้นจากพื้นดิน มีขนาดเพียงพอสำหรับอยู่เพียงองค์เดียว ฝาผนังส่วนใหญ่ใช้จีวรเก่าขึงแทน ใช้มุ้งกลดกันยุง ภายในกุฏิจะมีเพียงกลด เสื่อปูนอน ผ้าห่ม เครื่องอัฏฐบริขาร ตะเกียงหรือเทียนไข และของใช้ที่จำเป็นอื่นๆเท่านั้น ด้านหัวนอนจะมีพระพุทธรูปหรือรูปครูบาอาจารย์ติดไว้เพื่อกราบไหว้บูชาเป็นกำลังใจในการบำเพ็ญภาวนา ทุกกุฏิจะมีทางเดินจงกรมอย่างน้อย 1 เส้น ยาวประมาณ 25 ก้าว อยู่ใต้ร่มไม้ การเดินจงกรมในยามค่ำคืน จะใช้โคมเทียนจุดสว่างพอให้เห็นทาง กุฏิแต่ละหลัง จะมองไม่เห็นกัน ประหนึ่งว่าอยู่ท่ามกลางป่าเพียงองค์เดียว เพื่อให้สัปปายะสะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม

ส่วนกุฏิที่สร้างถาวรมีอยู่ประมาณ 10 กว่าหลัง เป็นกุฏิของหลวงตา ภิกษุสูงอายุ กุฏิของญาติโยม ซึ่งมีทั้งหญิงและชายที่ไปขอปฏิบัติธรรมภาวนาช่วงเวลาสั้นๆ เฉลี่ยอยู่ระหว่างประมาณ 50-100 คน จัดแยกเขตกันระหว่างพระภิกษุสามเณร ญาติโยมชายและหญิงอย่างเป็นระเบียบ

อนึ่ง มหาภัย 5 ประเภทที่หลวงตามหาบัวไม่ให้พระวัดป่าบ้านตาดเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ วิดโอ และโทรศัพท์ ด้วยถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญสมณธรรมโดยตรง แม้จะหยิบเก็บหนังสือพิมพ์ที่ญาติโยมทำหล่นไว้มาอ่าน ก็มิได้ นอกจากนั้นไฟฟ้า ก็ไม่ให้ต่อเข้าวัด มีเพียงเครื่องปั่นไฟเพื่อใช้ในบางโอกาส ที่ประชาชนไปทำบุญมากเป็นกรณีพิเศษ ในวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น

##พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปสนทนาธรรม

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2522 รถยนต์คันงามคันหนึ่งแวะถามทางชาวบ้านเพื่อไป...วัดหลวงตาบัว และผู้ที่เสด็จลงจากรถพระที่นั่งคันนั้น ก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ปัจจุบันและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งเสด็จเป็นการส่วนพระองค์จากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ โดยมิได้ตรัสเรื่องการเสด็จครั้งนี้กับผู้ใด จนเหล่าราชองครักษ์ก็รู้แต่เพียงว่า ทรงขับรถพระที่นั่งออกจากพระตำหนัก โดยไม่รู้ว่าเสด็จไปที่ไหน โดยมีพระกระแสรับสั่งกับหลวงตามหาบัวว่า เกรงเป็นการเอิกเกริกรบกวน อยากเสด็จไปเป็นการส่วนพระองค์มากกว่า จนหลวงตาต้องให้โอวาทว่า

“มหาบพิตร พระองค์เป็นถึงพระเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าชีวิตของคนทั้งชาติ หากพระองค์เสด็จมาโดยลำพัง มีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จะเป็นความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง ถ้าพระองค์เป็นอะไรขึ้นมา คนทั้งชาติจะไม่เหยียบหลวงตาบัวมิดแผ่นดินหรือ” พระองค์ทรงมีพระปฏิสันถารตอบว่า...เกรงจะเป็นการรบกวนองค์หลวงตา หลวงตาจึงทูลว่า “รบกวน ไม่รบกวนจะเป็นอะไร แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ พระองค์พึงมาได้ทุกเมื่อ”

ครั้งนั้น หลวงตามหาบัวมีบันทึกไว้ว่า “วันที่ 10 พ.ย.22 เวลา 16.20 น.พระเจ้าอยู่หัว-พระราชินีพร้อมกับเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ เสด็จมาเยี่ยม ประทับอยู่ 2 ชม.กับ 20 นาที จึงเสด็จกลับสกลนคร คือเสด็จมา 16.20 น.เสด็จกลับ 19.10 น.

ทรงถวายผ้าห่มและไทยทานอื่นๆมากมาย พร้อมกับปัจจัย 3 หมื่นบาท(ใบละ 1ร้อยล้วนๆ 300 ใบ) เราได้ถวายธรรมะพอประมาณ เป็นธรรมะสำคัญหลายประโยคหลายข้อ”

ต่อมา หลวงตามหาบัวมีโอกาสได้สนทนาธรรมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถอีกครั้ง เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จฯไปทรงนมัสการหลวงตาเป็นการส่วนพระองค์ ณ สวนแสงธรรม พร้อมกับถวายดอลลาร์และจตุปัจจัยไทยทานเข้าโครงการช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เมื่อ 23 เมษายน 2541 และเมื่อ 22 ตุลาคม 2546 หลวงตาก็มีวาทะไว้ว่า “เรารักชาติไทย รักพระมหากษัตริย์ของชาติไทย เราไม่รักสิ่งที่เป็นภัยต่อพระมหากษัตริย์และชาติไทย”

นอกจากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ก็เสด็จไปวัดป่าบ้านตาดเพื่อฟังธรรมเป็นระยะๆ หลังจากที่ประชวรอยู่นาน และเมื่อได้สนทนาธรรมกับหลวงตามหาบัว พระอาการก็ทรงดีขึ้นเป็นลำดับ นับแต่นั้นมาก็ทรงเจริญภาวนามาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเคยประทานสัมภาษณ์ไว้ว่า “ปลาบปลื้มที่สุด เพราะหลวงตาอุตส่าห์รับเป็นศิษย์เมื่อปีพ.ศ.2538”ซึ่งต่อมาหลวงตาก็รับทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ฯเป็น “บุตรบุญธรรม” หลังจากที่ทรงเสนอให้หลวงตาพิจารณาอยู่ถึงสามหน หนที่ 3 หลวงตามหาบัวจึงรับไว้ ทรงมีรับสั่งว่า “เพราะพระเจ้าอยู่หัวฯเป็นพระบิดาให้กำเนิดทางร่างกาย แต่ท่านพ่อ(หลวงตามหาบัว)เป็นผู้ให้กำเนิดทางจิตใจ ให้แสงสว่างแก่ดิฉัน”

หลวงตาเองก็เล่าไว้ว่า “ท่านฟังเทศน์เรา 20 กว่าครั้ง เวลามาเขาจัดให้ที่ประทับ ท่านก็ประทับ พอเราขึ้นธรรมาสน์ ท่านก็นั่งทำสมาธิฟังทุกครั้ง ฟ้าหญิงฯท่านภาวนาเก่ง ท่านสนใจจริงจัง ไปประทับที่ปทุมฯก็ทำที่ไว้สำหรับภาวนา อยู่ที่ไหนท่านก็มีที่ภาวนาของท่านโดยเฉพาะ...เราถามว่าเทศน์สอนฆราวาสกับเทศน์สอนพระต่างกันไหม ท่านตรัสว่า ต่างกันมาก แต่รู้สึกว่าชอบเทศน์สอนพระมากกว่า อย่างเทศน์ที่สนามหลวงพอเทศน์จบ ถามท่านดู ท่านออกอุทานขึ้นทันทีว่า ‘โอ้โฮ ท่านพ่อเทศน์ถอดออกมาจากจิตใจจริงๆ ฟังแล้วกายเบาหวิวเลยเชียว แทบไม่มีกาย’ ท่านพูดอย่างนั้น หมายถึงจิตรวมแล้ว จิตสงบเข้ามาสู่ธรรม ธรรมกล่อมจิตก็หมุนอยู่กับธรรม มันเลยไม่ส่งกระแสออกไปข้างนอก แล้วก็ไม่เจ็บนั่นปวดนี่ ท่านว่า ‘กายเบาหวิว แทบไม่มีกาย’เท่านั้น เราเข้าใจทันที”

หลวงตามหาบัวเล่าไว้ในหนังสือหลวงตานิพพาน ว่าทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์เสด็จไปวัดป่าบ้านตาดบ่อย ไปทีแรกเอาของไปถวายพะรุงพะรัง จนหลวงตาว่า “เอามาหาอะไร ลูกมาเยี่ยมพ่อมาแต่ตัวจะเป็นอะไร”ตั้งแต่นั้นก็มิได้ทรงเอาอะไรไปอีก หลวงตาว่า “ไม่ให้เอาอะไรมา เดินเข้ามา ลูกไปหาพ่อ พ่อไปหาลูกเหมือนกัน เราไม่ได้พูดธรรมดา ดุด้วย...ท่านนิมนต์เราไปตำหนักที่ปทุมธานี เราไปให้หนหนึ่งหรือสองหน บริเวณทำเลภาวนาดี...ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ท่านถวายตัวเป็นลูกบุญธรรม เวลาเราพูดกับท่าน พูดแบบพ่อกับลูกเลย ท่านพูดกับเราก็แบบเดียวกัน แบบพ่อกับลูก ท่านลงใจเต็มที่กับเรา เทศน์ในงานต่างๆท่านเสด็จมาท่านก็ไปฟังด้วย”

##ทองช่วยชาติและพินัยกรรมหลวงตา

เมื่อล่วงเข้าสู่ปี 2540 ประเทศไทยเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนเงินทุนสำรองของประเทศ ลดลงจาก 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเพียง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จนเป็นที่น่าหวั่นวิตกถึงความล่มสลายของประเทศ เวลาเดียวกับที่หลวงตามหาบัวซึ่งเคยมีวัตรปฏิบัติเป็นแบบอย่างในทางสงบ อาพาธด้วยโรคมะเร็งลำไส้ขั้นสุดท้าย ถึงกับถ่ายวันละกว่า 10 ครั้ง แต่ละครั้งต้องพยุงร่างด้วยการเกาะราวระเบียงกุฏิ เพื่อพยุงสังขารมิให้เป็นภาระแก่ผู้ใด จนในที่สุดความบอบช้ำเช่นนี้ หลวงตาจึงสั่งให้คณะศิษยานุศิษย์สร้างเมรุไว้หน้าวัด เพื่อให้การฌาปนกิจเป็นไปโดยเรียบง่าย แต่ในที่สุดหลวงตาก็หายจากโรคราวปาฏิหาริย์ ทั้งที่แพทย์ผู้ถวายการรักษาว่าไว้ว่าไม่หาย หลวงตากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“คงดวงชะตาของชาติไทยเราอุ้มขึ้น ตอนนั้นเราจะไป(ละสังขาร)ดูเหมือนจะไปในห้วงเวลาชนพรรษานั้น ด้วยโรคมะเร็งลำไส้ แล้วได้ยาหมอเติ้ง(หมอจีน)รักษา เราไม่ลืมนะ...” หลวงตาบอกว่าท่านตัดสินใจเช่นนี้เพราะท่านตัดสินใจที่จะฉันยาอีกเพียงครั้งเดียว หากไม่ดีขึ้น ท่านจะปล่อยไปตามครรลอง “หากพระพุทธศาสนาและหลักธรรมที่เราได้บรรลุมรรคผล จะสามารถกู้ชีวิตจิตใจประชาราษฎร์ กู้ชาติ กู้แผ่นดิน ให้กลับคืนสู่ความร่มเย็นเป็นสุข เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้เจริญสืบไป จะขอฉันยารักษาธาตุขันธ์เพียงอีกครั้งเดียว ถ้าไม่สามารถรักษาธาตุขันธ์ไว้ได้ ก็จะปล่อยวางให้เป็นไปตามกรรมของโลกต่อไป ถ้าถูกก็ถูก ไม่ถูกปัดเลยหยูกยาเราไม่เอา”

ราวกับปาฏิหาริย์ เพราะหลวงตามหาบัวสามารถลุกขึ้นได้ และได้สานเจตนา “ช่วยชาติ”ของท่านต่อไป

ก่อนโครงการช่วยชาติฯของท่านจะเริ่มขึ้น ท่านมีนิมิตว่า ประเทศชาติบ้านเมืองมืดครึ้ม ประหนึ่งอยู่ในอุ้งหัตถ์แห่งพญามารที่กางเล็บไว้รอบปฐพีมณฑลไทย รอเวลาที่จะบีบรัดให้ตายในเร็วพลัน ท่านกำหนดจิตพิจารณาหาผู้ใดช่วยก็มิได้ สุดท้ายจึงกำหนดจิตย้อนเข้าภายในตัวท่านเอง จึงเห็นแสงสว่างเพียงหิ่งห้อย เมื่อเดินไปตามลำแสงนั้นจึงได้พบแสงจ้า โล่ง โปร่ง เบิกบาน ท่านจึงให้อุบายว่างานช่วยชาติครั้งนี้ มีอยู่สองทางคือเป็นทางบุญสู่สวรรค์และนิพพาน และเป็นทางบาปสำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วย ไม่อนุโมทนา หรือคิดแต่จ้องจะทำลาย ลบหลู่ดูหมิ่นสกัดแนวทางเพิ่มพูนความดี

หลังจากที่ท่านเทศน์และเปรยว่า “บ้านเมืองเป็นหนี้ ถ้ามีเงิน จะนำเงินมาช่วยชาติ” สันติ วัฒลี ซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศ ก็ถวายดอลลาร์เป็นคนแรก จากนั้นมหาทานบริจาคก็หลั่งไหลไม่ขาดสายด้วยแรงศรัทธาในองค์หลวงตา เนื่องจากหลวงตากล่าวว่าท่านเป็นผู้ถือบัญชีและรับผิดชอบทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว เริ่มแรกจากการรับบริจาคเป็นเงินดอลลาร์ และตามมาด้วยเงินสกุลต่างๆ ภายหลังเมื่อมีผู้ขอบริจาคทองถวาย จึงมีการรับบริจาคเป็นทองด้วย เนื่องจากหลวงตาพิจารณาแล้วว่า ความมั่นคงของประเทศอยู่ที่ทองคำเป็นหลัก จากนั้นจึงมีการเปิด “โครงการช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน” เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2541 โดยทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ฯเสด็จไปเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อเป็นประธานเปิดโครงการฯ

หลังจาก หลวงตาออกเทศน์ให้ญาติโยมเข้าใจโครงการช่วยชาติฯ มาระยะหนึ่ง ถึงวันที่ 7 เมษายน 2543 หลวงตามหาบัวก็ประกาศทำพินัยกรรมยกสมบัติเข้าพระคลังหลวง ขณะเทศนาอยู่ที่สวนแสงธรรม ท่ามกลางความตกตะลึงของญาติโยมซึ่งอยู่ในที่นั้น เมื่อเห็นหลวงตาปักหลักสู้ไม่ถอยเพื่อให้เงินผ้าป่าช่วยชาติ”ถูกนำไปใช้ให้สมตามเจตนารมณ์

“ขอยืนยันว่าเงินทั้งหมด เราจะซื้อทองเข้าคลัง ไม่ให้เป็นของคนอื่น และไม่ให้แยกจากกันซักสตางค์เดียว หลวงตาจะเผาผีตัวเองด้วยไฟ ไม่ใช่ด้วยเงิน คนเรานั้นแม้มีชื่อเสียง แต่วาระสุดท้ายคือความตายมาถึงทุกคน”

จากความพยายามไม่มีถอย ทำให้หลวงตามหาบัวสามารถส่งเงินและทองเข้าคลังหลวง มีมูลค่าถึง หนึ่งหมื่นสองร้อยเก้าสิบเก้าล้านเก้าแสนสี่หมื่นบาทเศษ(อัตราแลกเปลี่ยนปี 2550) ทำให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับตีพิมพ์ว่า “ไม่มีหลวงตา ไม่มีวันนี้” นั่นคือปลดแอกโซ่ตรวนจาก IMF สำเร็จ พร้อมกับมีเงินทุนสำรองของ ประเทศทะลุสี่หมื่นล้านดอลลาร์ ในสิ้นปี 2546

## กายป่วย จิตไม่ป่วย

หลังจากอาการอาพาธดีขึ้น จนหลวงตามหาบัวสามารถออกลุยเทศน์ช่วยชาติจนเป็นผลสำเร็จแล้ว ทั้งยังเดินทางแทบทุกวันด้วยกิจกุศลและเพื่อสงเคราะห์หน่วยงาน โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ หลายสิบแห่งซึ่งหลวงตาให้ความอนุเคราะห์ไว้ จนวันหนึ่งท่านกล่าวด้วยประโยคที่ทำเอาลูกศิษย์น้ำตานองหน้า เมื่อท่านบอกว่า “เราคงจะอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี” และเป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อถึงเวลาที่ท่านละสังขาร ก็เป็นเวลาสองปีพอดีจากที่ท่านกล่าวไว้

ธาตุขันธ์ของหลวงตาเริ่มอ่อนลงเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2553 ด้วยอาการฉันไม่ย่อย ท้องผูกและอาเจียน แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากเส้นเลือดไปเลี้ยงกระเพาะอาหารไม่เพียงพอ มีเชื้อแบคทีเรียในลำไส้จนทำให้มีน้ำในลำไส้มากเกินไป แพทย์จึงสั่งงดน้ำ งดอาหาร เพื่อให้กระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่พักการทำงาน และให้อาหารเสริมวิตามินผ่านทางเส้นเลือดใหญ่

จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 เป็นต้นมา หลวงตาก็ไม่สามารถลงฉันภัตตาหารที่ศาลาอย่างเคยอีก แพทย์และศิษยานุศิษย์ถวายการดูแลรักษา ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก แต่วันที่ 3 ธันวาคม 2553 หลวงตาสามารถนั่งรถกอล์ฟไปเยี่ยมสถานีวิทยุเสียงธรรมของบ้านตาดได้ สร้างความปีติแก่ชาวบ้านตาดไป ตามๆ กัน จากนั้นท่านไปกราบอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าสุทธาวาส และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2553 หลวงตาซึ่งมีท่าทีแช่มชื่นไม่เหมือนคนป่วย บอกกับลูกศิษย์ว่าท่านถอดจิตไปแสดงธรรมที่ต่างๆมา

“งานทางโลก งานทางธรรมเราก็สิ้นสุดแล้ว หมู่เพื่อนภาวนาเป็นอย่างไร เราหมดห่วงหวงกังวลแล้ว เรานี่แหละ ‘พระอรหันต์ร้อยเปอร์เซ็นต์’…นั่งตัวเป็นๆอยู่นี่ ดูเอา”

เมื่อท่านอาพาทด้วยอาการเดิมอีกครั้ง คราวนี้คณะแพทย์จากศิริราช ขอนแก่นและอุดรฯต้องถวายการรักษาที่วัดป่าบ้านตาด เพราะหลวงตาไม่ต้องการกลับไปรักษาที่ศิริราช ด้วยเหตุผลว่า “ถ้าเราไปมันจะยุ่ง”

วันที่ 25 ธันวาคม 2553 องค์ท่านมีไข้ หายใจเร็ว ปอดมีเสียงดังผิดปกติมีฝ้าขาวเล็กน้อย แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากภาวะปอดอักเสบ ติดเชื้อ ถวายการรักษาโดยพ่นยาขยายหลอดลม ให้ยาต้านไวรัสและยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด

วันที่ 26 ธันวาคม 2553 หลวงตามีอาการไอแห้งๆบ่อยครั้ง มีไข้ต่ำ แพทย์ตรวจพบปอดอักเสบและติดเชื้อ มีอาการอ่อนเพลีย งดฉันอาหาร แพทย์ให้ยาปฏิชีวนะและยาขยายหลอดลม ให้น้ำเกลือ อาการหอบลดลง สามารถลุกขึ้นนั่งรถกอล์ฟไปรอบๆวัดได้ ค่ำนั้นท่านให้โอวาทธรรมและบอกว่า “ผมบอกตรงๆเลย ผมมาเกิดเป็นชาติสุดท้าย ไม่มาเกิดอีก”

วันที่ 27 ธันวาคม 2553 คณะศิษยานุศิษย์กราบนิมนต์ท่านเข้ารับการรักษาที่ศิริราช ระหว่างนั้นทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯและทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ฯ เสด็จไปเยี่ยมด้วยทรงเป็นห่วง ผลการตรวจร่างกายโดยทั่วไปพบว่า แม้จะตอบคำถามได้ดีแต่เสียงเบา กล้ามเนื้ออ่อนแรงและลีบเล็กเนื่องจากขาดสารอาหารมานาน มือเท้าเย็น นิ้วหัวแม่เท้าซ้ายหลุดเนื่องจากการอักเสบและขาดเลือดไปเลี้ยง หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ สรุปได้ว่าขาดสารอาหารและน้ำ ทางเดินอาหารอุดตัน ปอดอักเสบติดเชื้อ หลอดเลือดแดงที่ขาส่วนปลายอุดตัน หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ

วันที่ 31 ธันวาคม 2553 สุขภาพโดยรวมดีขึ้น ไอน้อยลง แต่ยังมีอาการเหนื่อย แผลที่เท้าดีขึ้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯเสด็จเยี่ยม ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าก็เสด็จไปเยี่ยมเช่นกัน เรื่องนี้หนังสือหลวงตานิพพานระบุไว้ว่า พระผู้ดูแลใกล้ชิดบอกว่า เหตุที่หลวงตายอมรับนิมนต์มารับการรักษาที่ศิริราช มิใช่เพื่อให้ท่านหายขาดจากโรค แต่ท่านมาเพื่อสงเคราะห์เทวบุตรเทวดา เพื่อโปรดลูกสาวบุญธรรมซึ่งก็คือทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ฯ ที่ทรงถวายการรักษาหลวงตาเป็นอย่างดีในฐานะหัวหน้าคณะแพทย์

แต่อีกเพียงไม่กี่วัน หลวงตาก็เร่งรัดขอกลับวัดป่าบ้านตาด จนหลวงปู่ลี กุสลธโร ทายาทธรรมของหลวงตาต้องสั่งให้พระผู้ดูแลนำท่านกลับวัดป่าตามความต้องการ

วันที่ 3 มกราคม 2554 หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าฯและทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์เสด็จเยี่ยม หลวงตาก็ถูกนำกลับวัดป่าบ้านตาดโดยเครื่องบิน C 130 ของกองทัพอากาศ

วันที่ 9 มกราคม 2554 ทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ฯเสด็จเยี่ยม พร้อมนำแพทย์จากศิริราชไปด้วย โดยทรงขอถวายการรักษาเป็นระยะๆ เช่น ขอเจาะน้ำออกจากปอด ขอเปลี่ยนสายให้น้ำเกลือจากเส้นเลือดไปถึงหัวใจ ฯลฯ ทรงขอถวายการรักษาด้วยพระอาการอ่อนโยน เป็นที่จับใจผู้ดูแลทั้งหลายยิ่งนัก จนหลวงตาอาการดีขึ้นในวันนั้น และสามารถนั่งรถกอล์ฟออกไปโปรดญาติโยมได้นานถึง 50 นาที

วันที่ 11 มกราคม 2554 แพทย์นิมนต์เข้ารับการรักษาในห้องปลอดเชื้อ มีประชาชนไปร่วมสวดมนต์หน้าวัดป่าบ้านตาด และที่พระบรมธาตุธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์ ตัวเมือง อุดรฯเป็นจำนวนมาก เพื่อถวายเป็นพลังบุญ

วันที่ 18 มกราคม 2554 ทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ฯทรงนำคณะแพทย์ร่วมประชุมกับเหล่าศิษยานุศิษย์ โดยทรงแจ้งว่าการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและสมุนไพรโบราณ สามารถไปด้วยกันได้ตามที่ทางศึกษามา หากแต่ต้องระมัดระวังในผลข้างเคียง จากนั้นทรงขออนุญาตเจาะระบายน้ำจากช่องเยื่อหุ้มปอด

วันที่ 25 มกราคม 2554 หลวงตาสามารถนั่งรถกอล์ฟออกโปรดเหล่าญาติโยมโดยรอบศาลาวัดได้ ผู้คนที่ไปรอเฝ้าเพื่อฟังข่าวต่างพากันดีใจเป็นอย่างยิ่ง และนับเป็นครั้งสุดท้าย ที่ท่านออกมาอย่างพระอริยสงฆ์ ให้ผู้คนได้พบเห็น หนังสือหลวงตานิพพานกล่าวไว้อย่างน่าสะเทือนใจว่า การเห็นครั้งนี้เป็น “ปัจฉิมทัศนา”เป็นการปรากฏเรือนร่างอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้าย เป็นกาลสุดท้ายแห่งการเห็นด้วยตา ฟังด้วยหู รู้ด้วยกายสัมผัส เรือนร่างที่แก่เฒ่าชราแบกมา 98 ปี เหมือนเกวียนที่ชำรุดแล้วสุดที่จะซ่อมใช้ได้ดั่งเดิม หลังจากปรากฏครั้งนี้ ท่านก็กลับเข้ากุฏิทิ้งไว้แต่รอยยิ้ม เสียงธรรมเทศนาและกริยาที่งดงามไว้เบื้องหลัง

วันที่ 29 มกราคม 2554 แพทย์รายงานว่าได้ยินเสียงผิดปกติที่ปอดด้านขวา ตรวจพบว่าชายปอดข้างขวาทึบ มีการติดเชื้อในกระแสเลือด แต่ แม้หลวงตาจะอนุญาตให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อระงับอาการติดเชื้อได้ เครือญาติกลับทำจดหมายไม่ยินยอม แพทย์แถลงว่าพบมีไข้สูง 39.8 องศาเซลเซียส ความดันโลหิตลดต่ำลง ปอดสองข้างติดเชื้อมากขึ้น หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นบางครั้ง ขณะที่คณะสงฆ์ยังมีความหวังจากการใช้ยาทางเลือกช่วยฟอกธาตุขันธ์ โดยหลวงปู่ลีกล่าวว่า “หลวงตาเข้าฌานฟอกธาตุขันธ์ ให้เป็นไปตามอัธยาศัยขององค์ท่าน อย่ารบกวน”

จนตีสองเศษ อาการของท่านไม่ดี ทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ฯเสด็จประทับนั่งนิ่งดูแลอย่างใกล้ชิด ความดันโลหิตเริ่มต่ำลง สมองหยุดทำงาน ม่านตาไม่มีปฏิกริยาตอบสนอง ออกซิเจนในเลือดมีค่าเป็นศูนย์ หลวงตาถอดจิตออกจากร่าง เวลา 03.53 นาที ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ ก็กราบทูลว่า “หลวงตาละสังขารแล้ว” พระอัสสุชลก็พลันหยดจากพระเนตร เสียงร่ำไห้ค่อยๆดังทวีขึ้นจากด้านในออกไปสู่ภายนอก หลังจากเสียงพระเณรบอกต่อๆกันไปว่า “หลวงตานิพพานแล้ว”

สิ้นแล้ว พระอรหันต์ที่โลกต้องจารึกไปชั่วกัปป์ชั่วกัลป์

----------------------------------------------------


พิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ล้านแรงศรัทธาร่วมอาลัย

เนินดินสูงสามชั้นประดับด้วยดอกไม้สีขาว มีกลดขนาดใหญ่ขึงลอยอยู่ด้านบน ซึ่งเป็นเมรุชั่วคราวในงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน เป็นภาพแรกที่ทุกคนได้เห็นเมื่อก้าวเข้าสู่วัดเกษรศีลคุณ หรือที่ทุกคนรู้จักกันดี ในนามของ วัดป่าบ้านตาด แห่งจ.อุดรธานี

จิตกาธานแห่งนี้ สร้างเป็นเมรุชั่วคราวอย่างโดดเด่น เพื่อใช้ในพระราชพิธี พระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงตามหาบัว ซึ่งแม้จะออกแบบให้มีความเรียบง่าย ตามความประสงค์ของหลวงตาทุกประการ แต่ในความเรียบง่ายกลับคงไว้ซึ่งความสวยงามยิ่ง โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬา ภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระประสงค์ให้หาพันธุ์บัวสีขาวมาประดับตกแต่งเมรุชั่วคราว เพื่อให้เกิดความสวยงาม และยิ่งใหญ่ เนื่องจากดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา เป็นของที่ใช้บูชาพระ อีกทั้งยังมีชื่อเดียวกันกับหลวงตา ซึ่งดอกบัวสีขาวบริสุทธิ์ที่นำมาใช้ครั้งนี้ทาง อุทยานบัวได้คัดเลือกต้นบัวไว้ทั้งหมด 6 สายพันธุ์ 5 ตระกูล ได้แก่ บัวหลวง บัวฝรั่ง บัวผัน บัวเผื่อน บัวยักษ์ออสเตรเลีย และบัวสาย

ส่วนจิตกาธานสุดวิจิตรตกแต่งด้วยเครื่องสดอันประกอบด้วย ดอกไม้สดประเภทร้อยถัก ตาข่ายที่ใช้ดอกรักและดอกกล้วยไม้สีขาว อันสื่อถึงความบริสุทธิ์ของพระกรรมฐาน อีกทั้งคณาจารย์จากร.ร.ช่างฝีมือในวังชาย สำนักพระราชวัง ยังได้นำดอกบัวขาวแกะสลักจากมะละกอดิบ จำนวน 50 ดอก ไปประดับตกแต่งจิตกาธานจนแล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นงานสุดท้าย โดยมีการแทงหยวกกล้วยเป็นลวดลายไทยเน้นความเรียบง่าย ตกแต่งโดยรอบจิตกาธาน ซึ่งมีทั้งความสวยงามและยังสามารถกันไฟได้อีกด้วย

เช้าวันที่ 5 มีนาคม 2554 ก่อนสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถจะเสด็จเป็นประธานในพิธีประชาชนนับแสนคนพากันไปเฝ้ารอเข้าร่วมพิธี ตั้งแต่วันก่อนงาน และเพียง 4 นาฬิกาของวันที่ 5 มีนาคม ทั้งรถราและผู้คนก็ทะยอยเข้าไปจนแน่นขนัด ประมาณได้นับล้านคน จนรถรับส่งซึ่งวัดป่าบ้านตาดจัดไว้ไม่เพียงพอ ผู้คนจำนวนมากจึงเดินเท้าเข้าไปในพิธีที่อยู่ห่างจากลานจอดรถหลายกิโลเมตร

ส่วนเหล่าสาธุชนจากทั่วทุกสารทิศต่างปักหลัก หาที่จับจองเพื่อรอเวลาอยู่ภายในบริเวณวัด ถึงแม้แสงแดดจะส่องแสงแผดจ้าอย่างไม่ลดละ และผู้คนเนืองแน่นมากมาย แต่ด้วยความเคา รพรักศรัทธาในตัวหลวงตามหาบัว และหัวใจที่เต็มไปด้วยเผื่อแผ่เมตตาตามหลักศาสนาพุทธ ทุกคนจึงช่วยเหลือเกื้อกูลถ้อยทีถ้อยอาศัยกันทุกๆ เรื่อง ทั้งการต่อแถวเข้าห้องน้ำ อาหารการกิน ก็มีโรงทานมาร่วมทำอาหารแจกจ่ายมากมายกว่า 1,000 ร้าน หรือแม้แต่ที่พักอาศัยก็แบ่งปันกัน เพราะมีหลายคนเข้า มากางเต๊นท์ปักหลักอยู่ในบริเวณวัดเพื่อร่วมงานแห่งศรัทธาอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้

ต่างคนต่างใจจดใจจ่อที่จะรอรับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขณะที่สายตาก็ไม่วายจับจ้องอยู่ที่จิตกาธานวางสรีระองค์หลวงตาซึ่งงดงามจับตา โดยสำนักพระราชวังได้เชิญเมรุเบญจา ขึ้นตั้งข้างจิตตาการเมรุ เพื่อประกอบพิธีพระราชทานเพลิง ขณะที่บริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยคลื่นสาธุชน ที่พร้อมใจกันสวมชุดหรือเสื้อขาวจับจองพื้นที่ เพื่อรอร่วมส่งหลวงตามหาบัว...สู่นิพพาน

โดยในช่วงสายของวัน หลังจากพระภิกษุ-สามเณรฉันภัตตาหารเช้าเสร็จสิ้นแล้ว บนศาลาการเปรียญซึ่งเป็นที่ตั้งสรีระสังขารของหลวงตามหาบัว ทั้งพระเถระผู้ใหญ่ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง พระภิกษุสงฆ์และประชาชนต่างมารวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีขอขมาต่อสรีระสังขาร พระเดชพระคุณหลวงตามหาบัว รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ก็เสด็จมาทรงร่วมพิธีนี้ด้วย ในขณะที่เหล่าสาธุชนนั่งร่วมสวดมนตร์ขอขมาในพิธีนี้ โดยรอบวัดอย่างเนืองแน่น เสียงสวดมนต์ขอขมาดังกึกก้องไปทั่วทั้งบริเวณวัดป่าบ้านตาด ทุกคนต่างใจจดจ่อรอเวลา ที่จะอัญเชิญโกศสรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคลจากศาลาการเปรียญขึ้นสู่จิตกาธานด้วยความโศกสลดหัวใจอย่างเหลือแสน บางคนถึงกับสวดมนต์ไปพร้อมๆ กับน้ำตาที่ไหลรื้นออกมาอย่างไม่ขาดสาย

พระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารีทรงเต็ม ไปด้วยความเศร้ามอง ทรงร่วมขบวนเคลื่อนโกศสรีระสังขารหลวงตามหาบัวโดยประทับรถเข็น และมีแพทย์ประจำพระองค์เป็นผู้ถวายการเข็น ซึ่งทรงอยู่ในพระอาการที่สงบนิ่งยิ่งนัก

และเมื่อได้เวลา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับรถยนต์พระที่นั่งถึงวัดป่าบ้านตาด เวลาประมาณ 17 นาฬิกาเศษ เสด็จฯไปทรงสวมกอดทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ฯอย่างปลอบประโลมพระหฤทัย ก่อนประทับพระราชอาสน์ จากนั้นเสด็จฯ ขึ้นเมรุ ทรงทอดผ้าไตร 10 ไตรที่จิตกาธานรอบโกศสรีระสังขาร พระเถระผู้ใหญ่ 10 รูปร่วมบังสกุล ได้แก่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศ์ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธฯ สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศฯ พระพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา พระพรหมมุนี วัดราชบพิธฯ พระธรรมวราภรณ์ วัดเครือวัลย์ พระธรรมเจติยาจารย์ วัดพระศรีมหาธาตุ พระธรรมบัณฑิต วัดพระรามเก้า กาญจนภิเษก พระธรรมดิลก วัดป่าแสงอรุณ ขอนแก่น และพระญาณสิทธาจารย์ วัดสามัคคีอุปถัมภ์ หนองคาย

จากนั้นทรงหยิบกระทงข้าวตอกดอกไม้ และวางดอกไม้จันท์แกนไม้จิก หน้าโกศโดยมีชาวพนักงานข้างที่ประโคม ปี่ และกลองชนะ ก่อนเสด็จฯ ลง จากนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ เสด็จขึ้นวางดอกไม้จันท์แก่นไม้จิกที่โกศ ก่อนเสด็จฯ ลงพลับพลา ประทับพระราชอาสน์ จนเมื่อเวลา 17.45 นาฬิกาโดยประมาณ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯกลับโดยรถยนต์พระที่นั่ง โดยมีประชาชนเกือบล้านคนที่เฝ้ารับเสด็จ ต่างโบกธงชาติ และเปล่งเสียงทรงพระเจริญๆๆ จนขบวนเคลื่อนผ่าน

กระทั่งเวลา 18.00 น.จึงเป็นพิธีพระราชทานเพลิงจริงสรีระสังขารองค์หลวงตา ท่ามกลางเสียงร่ำไห้ระงมจากผู้คนที่หลั่งไหลกันไปทั่วทิศจนแน่นขนัด บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกสลดและอาลัยเป็นยิ่งนัก โดยมีทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ฯทรงประทับรอส่งหลวงตาสู่นิพพาน ด้วยทรงวิริยะเป็นเลิศที่จะทรงทำหน้าที่ “ลูกสาวบุญธรรม”เป็นครั้งสุดท้าย

----------------------------------


หลังจากส่งหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนสู่นิพพาน

สิ่งที่ต้องบันทึก :

หนังสือที่บรรดาศิษยานุศิษย์จัดพิมพ์แจกเป็นของที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงถวายสรีระสังขาร หลวงตามหาบัว เป็นที่ต้องการของญาติโยมกันมาก แม้จะมีหนังสือที่ระลึกมากถึง 18 แบบ แบบละนับแสนเล่มแต่ก็ไม่เพียงพอ แต่ละวันจะมีประชาชนต่อแถวเข้าคิวยาวหลายร้อยเมตร เพื่อรับหนังสือ ส่วนที่วัดจัดพิมพ์เอง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของหลวงตามหาบัวตั้งแต่กำเนิดจน กระทั่งวินาทีที่ดับขันธ์ ซึ่งมีแจกให้เฉพาะกลุ่มข้าราชการและญาติโยมสายที่ใกล้ชิดหลวงตาเท่านั้น เนื่องจากไม่เพียงพอ แม้จะจัดพิมพ์ถึง 1 แสนเล่ม ด้วยงบประมาณราว 20 ล้านบาทก็ตาม

##พินัยกรรมของหลวงตามหาบัว :

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสัสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย อ.นายูง จ.อุดรธานี ได้เปิดพินัยกรรมของหลวงตา มีใจความสำคัญว่า "...เมื่อข้าพเจ้ามรณภาพแล้ว ให้จัดการทรัพย์สินและทำงานศพข้าพเจ้าดังนี้ บรรดาทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วในขณะที่ข้าพเจ้ามรณภาพ และบรรดาทรัพย์สินต่าง ๆ ที่จะได้รับบริจาคในงานศพของข้าพเจ้าให้จัดการดังนี้ ส่วนที่เป็นทองคำให้หลอมเป็นทองคำแท่ง ส่วนที่เป็นเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินสกุลใดให้นำเข้าซื้อทองคำแท่ง และให้นำทองคำแท่งไปมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำรองเงินตราของฝ่ายบำบัดธนาคารแห่งประเทศไทย"

ในพินัยกรรมยังระบุว่า ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดงานศพ และจัดการดูแลทรัพย์สินทั้งปวง ที่มีอยู่ในขณะมรณภาพ และเงินที่จะได้รับบริจาคในงานศพ โดยให้ดำเนินการอย่างเปิดเผย โดยแต่งตั้งคณะกรรมการ 9 คน ประกอบด้วย พระอาจารย์ฝัก สันติธรรมโม (มรณภาพแล้ว), พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก, พระปัญญา วัตโก, พระอาจารย์วันชัย วิจิตโต,องคมนตรี ดร.เชาวน์ ณ ศีลวัน, นายศิริ คูสกุล, ม.ร.ว.ทองศิริ ทองแถม, พ.ต.อ.กฤษดา บูรณพานิช และ พ.ต.ประชัย นาวินรัตน์

##เสนอชื่อ “หลวงตามหาบัว” ลงกินเนสส์บุ๊ก

ภายใต้ "โครงการผ้าป่าช่วยชาติ" จากแนวคิดของหลวงตามหาบัว เพื่อใช้เป็นทุนสำรอง ของประเทศ ถือว่าเป็นโครงการที่สามารถได้กู้วิกฤตชาติให้รอดพ้นจากการเป็นหนี้ไปได้ ด้วยความดีที่หลวงตาได้ทำให้กับแผ่นดิน เรียกว่ายิ่งใหญ่มหาศาล ทำให้สื่อต่างชาติ ประโคมข่าวระบุว่า "หลวงตามหาบัว"เป็นผู้นำไทยปลดแอกปลดหนี้ "IMF"ตัวจริง

ขณะที่ ถนอม บุตรเรือง อดีตผู้บริหารสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับแบงค์ชาติทำหนังสือยื่นใบสมัครถึงกินเนสส์บุ๊ก (Guinness Book of World Records) เพื่อบันทึกเรื่องราวของ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ว่า เป็นเอกชนหรือปัจเจกบุคคลเพียงคนเดียว ที่บริจาคทองคำให้รัฐมากที่สุดในโลก เพื่อให้โลกได้รับรู้ถึงคุณความดีของ หลวงตามหาบัว ที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งกินเนสส์ บุ๊กส์รับเรื่องไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้เวลาดำเนินการพิสูจน์เรื่องราวของหลวงตามหาบัว ประมาณ 3 เดือน จึงจะทราบผลรับรองอีกครั้ง

##ความในใจ…ลูกศิษย์ (ถ้ายาวไปตัดเหลือพระ 2/ฆราวาส 2 ก็พอค่ะ-พี่ไก่)

-พระครูอรรถกิจนันทคุณ(พระอาจารย์ นภดล นันทะโน) เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา จ.กำแพงเพชร พระลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัว เมื่อสิ้นองค์หลวงตาแล้ว เครือข่ายวัดป่าก็คงต้องแยกการปกครองหรือต่างคนต่างอยู่ แต่ผู้นำที่จะสืบสานงานเผยแพร่ธรรมขององค์หลวงตา ต่อจากนี้ก็น่าจะเป็นหลวงปู่ลี กุสลธโร ส่วนงานด้านการสงเคราะห์ต่างๆ ต่อจากนี้ ลูกศิษย์ก็คงมีการปรึกษาหารือกัน ซึ่งต้องดูบารมีของบุคคลที่จะ มาดูแลงานด้านนี้ต่อจากองค์หลวงตาให้ได้

-พระอาจารย์เฉลิม ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดป่าภูแปก จ.เลย ในฐานะศิษย์ใกล้ชิดที่เคยอยู่กับหลวงตามานานและยังคงเดินทางไปหาหลวงตาตลอดเวลา สาเหตุที่ไปจำพรรษาไกลกว่านี้ไม่ได้ เพราะคิดถึงหลวงตามหาบัว “ทั้งๆที่รู้ว่าท่านดุ แต่ก็ยังคิดถึงท่านนะ(หัวเราะ) คือท่านดุแบบมีเสน่ห์ ดุเท่าไหร่คนก็ยิ่งชอบ ยิ่งดุลูกศิษย์ท่านยิ่งเยอะ ท่านดุแต่อย่างมีเหตุมีผล เป็นเอกลักษณ์ของท่าน แต่ที่แน่ๆ ท่านจะคอยเตือนให้เรามีสติ อย่าเผลอ ให้มีปัญญารู้จักคิด ถ้าไม่รู้จักคิด ไม่มีสติ จะเอาปัญญาที่ไหนไปคิด ไปแก้กิเลสได้อย่างไร”

-พระอาจารย์เกวลีภิกขุ (พระอธิการเฮ็นนิ่ง เกวลี) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ อุบลราชธานี “สิ่งที่อาตมาเห็นคือความเด็ดเดี่ยว เด็ดขาด ด้วยความที่วัดป่านานาชาติ กับวัดป่าบ้านตาดมีพระสงฆ์ที่เป็นชาวต่างชาติมากมาย อาตมาเป็นลูกศิษย์สายหลวงพ่อชา แต่หลวงพ่อชากับหลวงตาก็เป็นศิษย์หลวงปู่มั่นเหมือนกัน วัดเราก็มีการแลกเปลี่ยนการศึกษาพระธรรมกันมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้อาตมาได้มากราบหลวงตา เพราะถือว่าท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่ง อาตมาจะได้คำสอนที่เป็นแนวคิดของท่าน จากหนังสือของท่านที่แปลเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้มากมาย อาตมาคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติให้กับชาวต่างประเทศได้อย่างคุ้มค่ามากๆ สิ่งที่จะสืบสานพระธรรมของหลวงตาก็คือ เรียบง่าย มักน้อย สันโดด เอาจริงเอาจังไม่ฟุ่มเฟือย ถือเป็นสิ่งสำคัญของพระสงฆ์รุ่นปัจจุบันที่จะต้องทำให้ได้

-พระครูวิสุทธิธรรมภาน(สาโรจน์ ปิยโรจโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเววิหาร “ความศรัทธาที่มีต่อหลวงตามหาบัวมีเต็มร้อย อาตมาได้มอบกายถวายเป็น พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา ที่อาตมาถวายชีวิตได้ ถามว่าท่านดุไหม ถ้าพระรูปไหนประพฤตินอกรีตนอกรอยท่านดุแน่ แต่ท่านก็ไม่ได้ลงโทษอะไร แค่เตือนให้มีสติ ไม่ว่าจะคิด พูด ทำอะไรต้องมีสติกำกับ และต้องหูไวตาไว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก”

-พระ ม.ล.สิทธิโชค สิทธิเตโช(สวัสดิวัตน์) เรียนจบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา มีความตั้งใจบวชให้โยมพ่อโยมแม่(ม.ร.ว.เพิ่มศรี-อุษา สวัสดิวัตน์) โดยบวชเป็นนาคหลวงเพื่อเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้อยู่ภายในกุฏิหลวงตาจนท่านสิ้น “สิ่งที่หลวงตากล่าวไว้ในช่วงสุดท้ายก่อนที่จะละสังขารคือ ‘พระพุทธเจ้าก็องค์เดียวกัน ธรรมวินัยก็อันเดียวกัน ให้ตั้งใจภาวนา สติเป็นของสำคัญมาก’หลวงตาบอกเอาไว้อย่างนั้น อย่างน้อยก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติในการดำเนินชีวิตประจำวัน ท่านสอนสมาธิ สอนเดินจงกรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน อาตมาดีใจว่าเราได้เจอพระแท้จนน้ำตาไหท่านเทศน์สอนที่เห็นสำคัญก็คือ การมีสติ จทำให้เรามีสมาธิ และก่อให้เกิดมหาสติ มหาปัญญาในการฆ่ากิเลสในตัวเรา ถ้าฆ่าได้ก็จะไปถึงนิพพาน ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก

-องอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “ผมคิดว่าผมได้อิทธิพลแรงศรัทธาหลวงตามหาบัวมาจากภรรยา(ดร.อโณทัย) แต่ส่วนตัวผมเองเมื่อก่อน ก็ติดตามคำสอนของหลวงตาเหมือนลูกศิษย์ท่าน ท่านสอนให้เราอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับความเป็นจริงของชีวิต มีชีวิตอยู่ด้วยความไม่ลุ่มหลง ให้เราอยู่ด้วยความรู้ มีสติอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราอยู่ด้วยความรู้เราก็จะมีปัญญา จากนี้ผมคิดว่าจะดำเนิน ชีวิตตามแนวทางคำสอนของหลวงตา เพื่อให้ชีวิตเราอยู่ด้วยความไม่ประมาท อยู่ได้ด้วยความสุขตามแนวทางของพระพุทธศาสนาและตามคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า”

-ผศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม “ผมก็คงเหมือนกับทุกคนที่ได้สัมผัสวัตรปฏิบัติของหลวงตา ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล ภาวนา สมาธิ ปัญญา เราก็จะเห็นได้ว่าท่านทำได้อย่างบริบูรณ์ หรืออย่างทานท่านก็ทำได้สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นธรรมทาน อภัยทาน หรืออย่างศีลท่านก็รักษาศีลได้อย่างบริบูรณ์ แล้วเราก็ได้รับฟังจากภูมิจิต ภูมิธรรมที่ท่านสอนเรา เราทุกคนก็ได้เห็นว่า สมาธิ ภาวนา ท่านก็ทำได้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ ผู้บรรลุอรหันตผลและบรรลุธรรมอันใดบ้าง เท่าที่เราสังเกตกันหลวงตาก็ทำได้อย่างบริบูรณ์ที่สุด

-----------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น