สุทธิคุณ กองทอง หนุ่ม

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

มเหสักข์ - สักสยามินทร์ สักไว้ในแผ่นดิน โดย ดร.กาญจนา สุทธิกุล












มเหสักข์ - สักสยามินทร์ สักไว้ในแผ่นดิน

โดย...ดร.กาญจนา สุทธิกุล


เดอะแพลนท์แมกกาซีนร่วมกับมูลนิธิพุทธสาวิกา โดยวัตรทรงธรรมกัลยาณี ได้ร่วมกันจัดทำโครงการปลูกกล้าสักสยามินทร์ขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริในโครงการรวมใจภักดิ์ปลูกมเหสักข์-สักสยามินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.เพื่อสนองพระราชดำริในการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพืชของประเทศในโครงการรวมใจภักดิ์ ปลูกมเหสักข์-สักสยามินทร์ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็นการร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ 84 พรรษา

2. เพื่อร่วมกันปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้น เป็นการลดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่ง

3. เพื่อเพิ่มพื้นที่ซับน้ำตามธรรมชาติให้มากขึ้น เป็นการบรรเทาปัญหาอุทกภัยของประเทศอีกทางหนึ่ง

โครงการรวมใจภักดิ์ปลูกมเหสักข์ - สักสยามินทร์ฯ มีเป้าหมายเพื่อผลิตและกระจายต้นกล้า มเหสักข์ - สักสยามินทร์ให้ครบ 8.4 ล้านต้น ในเวลา 5 ปี โดยดำเนินการใน 7,255 ตำบล ตำบลละ 1,100 ต้น ทั่วประเทศรวม 7,255 ตำบล ใช้ต้นมเหสักข์รวม 7,980,500 ต้น ส่วนอีก 419,500 ต้น แจกจ่ายให้แก่องค์กรภายในและต่างประเทศ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปร่วมกันปลูกระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ถึง 5 ธันวาคม 2558 ระยะเวลา 5 ปี

โครงการรวมใจภักดิ์ปลูกมเหสักข์ - สักสยามินทร์ ฯ เป็นการอนุรักษ์พันธุ์ต้นสักที่มีอายุยืนยาว ซึ่งมีขนาดลำต้นใหญ่ที่สุดในโลกและต้นสักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไว้ให้คงอยู่สืบไป

โครงการ รวมใจภักดิ์ปลูกมเหสักข์ - สักสยามินทร์ นอกจากจะดำเนินการเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้คนไทยเกิดจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างมีคุณธรรม การนำต้นสักเข้าไปปลูกในท้องถิ่นทั่วประเทศคือกุศโลบายที่จะนำมาซึ่งการเก็บข้อมูลว่าในแต่ละพื้นที่มีฐานทรัพยากรอะไรบ้าง และนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความรู้สึกหวงแหนและเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นถิ่น นำมาซึ่งการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอย่างยั่งยืนต่อไป โครงการปลูกมเหสักข์-สักสยามินทร์จึงไม่ใช่เป็นแค่เพียงโครงการปลูกป่าหรือช่วยลดการพังทลายของหน้าดินเท่านั้น แต่ยังมีความหมายลึกซึ้งในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของประเทศและสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ระดับใต้ทะเลจนถึงยอดดอย ให้เป็นแหล่งพันธุกรรมเพื่อประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ เช่น เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค และเป็นแหล่งพลังงาน กับคนรุ่นหลังสืบไป โดยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า


ด้วยเห็นประโยชน์จากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วัตรทรงธรรมกัลยาณี และเดอะแพลนท์แมกกาซีน จึงร่วมมือกันจัดทำโครงการปลูกกล้าสักสยามินทร์ขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนองนโยบายของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในพระราชดำริ โดยความร่วมมือของประชาชนทุกสาขาอาชีพร่วมกันบริจาคเงินเพื่อจัดซื้อต้นกล้าสักให้ได้จำนวน 2,555 ต้นในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งนับเป็นปีที่หนึ่งของโครงการ และจะมีความต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้การทำงานของโครงการปลูกกล้าสักสยามินทร์เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น นับจากวันนี้ไป เราจะเดินทางไปยังพื้นที่เป้าหมายในต่างจังหวัด เพื่อนำกล้าสักซึ่งโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชจัดให้เป็นล็อตๆไปปลูก เริ่มจากสถานที่ราชการหรือป่าชุมชน จากนั้นจะเดินทางกลับไปยังพื้นที่เดิมเป็นช่วงๆเพื่อติดตามการรอดของต้นกล้า


ขณะเดียวกันได้ช่วยกันเก็บข้อมูลฐานทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆ เพื่อประโยชน์ของคนในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ ถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้มีคุณอเนกอนันต์ต่อแผ่นดินนี้
เราจัดงานกันที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม โดยเริ่มเคลื่อนขบวนแห่เวลา 15.00 น. โอกาสนี้ ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์ รองหัวหน้าสำนักงานและเลขานุการ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ให้เกียรติเป็นประธานในงาน ขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้


เมื่อเคลื่อนขบวนมาถึงบริเวณงาน หน้าพระวิหาร วัตรทรงธรรมกัลยาณี พิธีกรได้กล่าวทักทายผู้มาร่วมงานทุกคนและได้กล่าวกับทุกคนในที่นั้นว่านับเป็นโอกาสดีที่เรากำลังจะร่วมกันทำในนาทีที่ยิ่งใหญ่ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับเรียนเชิญ ดร.กาญจนา สุทธิกุล บรรณาธิการบริหารเดอะแพลนท์แมกกาซีน กล่าวรายงานต่อประธานในพิธีถึงที่มาของโครงการปลูกกล้าสักสยามินทร์


จากนั้น ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์ ประธานในพิธีได้กล่าวขอบคุณพระภิกษุณีและทุกท่านที่มาร่วมงานในนาม อพ.สธ. ก่อนจะเข้าสู่พิธีการปลูก พิธีกรได้นิมนต์หลวงแม่ธัมมนันทากล่าวกับทุกคนที่มาร่วมงาน ท่านได้เน้นย้ำว่า การปลูกสัก มีนัยยะแฝงไว้ว่าขอให้กล้าหาญที่จะสักไว้ซึ่งความดี ความงาม และความถูกต้อง ทุกวันนี้คนไม่กล้าทำความดีซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เป็นข้อคิดที่ท่านได้ให้ไว้กับทุกคนที่ร่วมอยู่ในพิธีนั้น
หลังจากที่หลวงแม่ธัมมนันทาได้กล่าวกับผู้มาร่วมงานเสร็จแล้ว พิธีปลูกกล้าสักสยามินทร์ได้เริ่มต่อจากนั้นโดย ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์ และ ดร.กาญจนา สุทธิกุล ร่วมกันปลูก ขณะที่หลวงแม่ธัมมนันทานำสวดชยันโตให้พร ตามด้วยการประพรมน้ำมนต์ให้กับต้นสักสยามินทร์และตัวแทนทั้งสองท่าน
บรรยากาศก่อนจะปิดงานเป็นไปด้วยความปิติ เป็นสุข และเกิดเป็นความอบอุ่นประทับใจ

เนื่องจาก ดร.กาญจนา สุทธิกุล และทีมงาน “เดอะแพลนท์แบนด์” ได้โชว์งานดนตรีในสวน ด้วยการร่วมกันร้องเพลงเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 3 เพลง ได้แก่ เพลงต้นไม้ของพ่อ ของขวัญจากก้อนดิน และแผ่นดินของเรา ตามลำดับ ทุกท่านที่ร่วมงานต่างพากันส่งเสียงร้องออกมาร่วมกันกับโชว์บนเวที ร้องไปก็เกิดความซาบซึ้งไปเพราะต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น การที่คนเล็กๆกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาทำงานสนองพระราชดำริตามกำลังอย่างเต็มที่และเปี่ยมไปด้วยศรัทธา เป็นการแสดงออกว่า “เมล็ดพันธุ์แห่งความดี ความงาม และความถูกต้อง” ได้เกิดขึ้นแล้วในที่แห่งนี้ และเราจะช่วยกันรักษาให้ต้นไม้ของพ่อต้นนี้มั่นคงและยั่งยืน...ตลอดไป

ขอขอบคุณแฟนพันธุ์แท้ทั้งเกษตรกร ผู้สนับสนุน และสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย ตลอดจนผู้บริจาคทุกท่านที่ไม่ได้เอ่ยนามในที่นี้ ในการทำกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร่วมกันครั้งนี้

--
Kanjana Suthikul, Ph. D. (Horticulture)
Executive Editor
The Plant Magazine
Jason Media Ltd., Part.
Main office: Metropark 2B Building 158/47 Kalapapruek Rd.,
Bangwa, Phasicharoen, Bangkok, 10160, Thailand
Tel.& Fax.: +66-2-458-8137
Mobile: +66-84-949-0204
Branch office: Chiang Mai, Thailand (Under construction)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น