สุทธิคุณ กองทอง หนุ่ม

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ภารกิจเร่งด่วนแก้น้ำท่วมเพื่อ “เจ้านาย”





เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง / ภาพ : นพพล ภาคสุทธิผล, ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์ แต่งหน้า : บัณฑิต บุญมี

ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข

รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ

ภารกิจเร่งด่วนแก้น้ำท่วมเพื่อ “เจ้านาย

เด็กหนุ่มจากเมืองเลย เริ่มต้นทำงานด้วยอาชีพวิศวกร ก่อนเข้าไปทำหน้าที่ ส.จ.ในสภาบ้านนอก กระทั่งก้าว สู่สภาหินอ่อนจนได้เป็น ส.ส. 10 สมัย ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตำแหน่งร้อนที่มีภารกิจเร่งด่วนรอการแก้ไข

แม้เพิ่งจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน ค.ร.ม.ยิ่งลักษณ์ 1 เพียง 2 เดือนเศษ แต่ดูเหมือนว่าภารกิจของท่านรัฐมนตรีฯ ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข นั้นหนักหนาและท้าทายความสามารถอยู่ไม่น้อย ไม่นับปัญหาเก่าที่คั่งค้างอย่างกรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ปราสาทพระวิหาร และปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เขาต้องจัดการแก้ไข

//ไม่หนักใจ “แก้” น้ำท่วม

ในฐานะเจ้ากระทรวงทรัพยากรฯ คุณปรีชาเผยถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเบื้องต้นว่า ทางกระทรวงให้ใช้งบประมาณของแต่ละจังหวัดที่มีกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งหากไม่พอก็ให้ขอเพิ่มไปยังรัฐบาส่วนแผนระยะกลางหลังน้ำลดนั้น ให้แต่ละจังหวัดเร่งสำรวจพื้นที่และเสนอแผนบูรณาการลำน้ำทั่วประเทศ ว่าพื้นที่ใดจำเป็นต้องสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือแก้มลิง ซึ่งจะเสนอบรรจุในแผนงบประมาณเร่งด่วนปี 2555

“ผมไม่หนักใจ คือผมพร้อมทำงาน เราได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งแล้ว ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด มาตรการเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องดูนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก มีปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้เข้าไปแก้ไข โดยกระทรวงจะเป็นหน่วยงานเฝ้าระวัง เช่น เรื่องน้ำ ต้องมีการเฝ้าระวัง ทำเสร็จแล้วก็เข้าไปฟื้นฟู อนุรักษ์ และบูรณาการณ์ ซึ่งตรงนี้ภาครัฐกับภาคประชาชนต้องร่วมมือกัน”

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว ทางกระทรวงเน้นทำตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เช่น โครงการแก้มลิง โครงการอ่างเก็บน้ำ ฯลฯ ครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดที่เป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำต่างๆ ไปถึงปลายน้ำ โดยแก้ให้เป็นระบบ ไม่ใช่บูรณาการจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่ต้องบูรณาการต่อเนื่องทุกจังหวัดและทุกภาค

//ทุ่มงบ 4,000 ล้านบาท แก้น้ำท่วม

ส่วนนโยบายจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำของภาคเหนือยึดหลักตามยุทธศาสตร์การจัดการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำหลัก และ 254 ลุ่มน้ำย่อย โดยมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเน้นการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ นโยบายดังกล่าวจะเกิดผลดีต่อประชาชนในภาคการเกษตร โดยมีต้นทุนปริมาณน้ำมากขึ้น เพื่อใช้อุปโภคบริโภค และการเพาะปลูกได้ตลอดปี เป็นจำนวนหลายล้านไร่ ครัวเรือนเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถแข่งขันในการเป็นแหล่งผลิตอาหารโลกตามนโยบายของรัฐบาล

“นโยบายนี้บรรจุในแผนงบประมาณ ปี 2555 ทางกระทรวงให้กรมทรัพยากรน้ำ สำรวจและเร่งการออกแบบ ซึ่งในขณะนี้มีการสำรวจวางแผนครอบคลุมไปหลายพื้นที่แล้ว ส่วนการ สร้างเขื่อนขนาดใหญ่เป็นความรับผิดชอบของกรมชลประทาน แต่ที่ผ่านมางบประมาณไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วม ถ้าปีหน้าได้งบประมาณมาบูรณาการลุ่มน้ำทั้งหมด จะช่วยแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในปีต่อๆ ไปได้ ซึ่งโครงการระยะเร่งด่วนนี้ จะทำพร้อมกันทั่วประเทศ และกรมทรัพยากรน้ำติดตั้งสัญญาณเตือนภัยไปแล้ว 2,000 แห่ง ยังขาดอีก 4,000 แห่ง” รมว. กระทรวงทรัพยากรฯ เผยแผนการแก้ปัญหาอุทกภัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว

//เร่งบูรณาการป่าต้นน้ำ

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและให้ความสำคัญ อาทิ โครงการหนึ่งป่าต้นน้ำ หนึ่งต้นกำเนิดพลังงาน บ้านสันดินแดง กิจกรรมด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนของโครงการเฉลิมพระเกียรติ “ลดโลกร้อน ถวายพ่อ” ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ปีละ 255 ตัน รักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำปีละ 23,000 ไร่ จากการที่ชุมชนเห็นคุณค่าและประโยชน์ของป่าต้นน้ำ ทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค การเกษตร รวมถึงเป็นต้นกำเนิดพลังงานไฟฟ้า จึเป็นแวทางการแก้ปัญหาป่าต้นน้ำได้เป็นอย่างดี

“ผมมองว่าป่าต้นน้ำบางพื้นที่ถูกทำลายจากธรรมชาติและฝีมือของมนุษย์ ต้องมีการพื้นฟู เฝ้าระวัง และอนุรักษ์ให้ป่าต้นน้ำกลับคืนสู่สภาพเดิม พื้นที่ป่าไม้ไหนถูกทำลายและไม่สมบูรณ์ก็รณรงค์ส่งเสริม ให้ภาคประชาชนปลูกต้นไม้มากขึ้น โดยเน้นให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่า ให้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมกลับคืนสู่สภาพป่าสมบูรณ์ เพราะปัจจุบันป่าไม้ถูกทำลายไปมาก เห็นได้จากฝนที่ไม่ตก ตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง บางปีฝนตกมากกว่าปกติ ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัย

จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมทรัพยากรธรณีระบุว่า พื้นที่ในภูเมี่ยง และภูทอง จ.พิษณุโลกและอุตรดิตถ์เป็นภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อเกิดฝนตก วัดปริมาณน้ำฝนบนยอดเขาได้ 150-160 มิลลิเมตรต่อวัน ทำให้ดินอุ้มน้ำมาก จนเกิดปัญหาดินถล่มสไลด์ตามมา ต้นไม้ถูกถอนรากถอนโคน บ้านเรือนเสียหายและผู้คนด้านล่างเสียชีวิต เป็นจุดเสี่ยงที่ต้องติดตั้งเครื่องเตือนภัยอย่างเร่งด่วน” รัฐมนตรีปรีชา อรรถธิบายการแก้ปัญหาตามแนวทางอย่างละเอียด

นอกจากนี้ยังเผยถึงปัญหาเก่าที่คาราคาซังอย่างกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน และคดีปราสาทพระวิหารที่รัฐบาลไทยสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศถอนตัวจากมรดกโลกไปแล้ว ซึ่งเขาในฐานะ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ คนปัจจุบันต้องเข้าไปสะสาง “เหตุการณ์ต่างๆ นี้เกิดก่อนที่ผมรับตำแหน่ง แต่ผมก็มอบนโยบายชัดเจนให้ผู้บริหารของแต่ละกรมไปตรวจสอบ โดยยึดกฎหมายเป็นหลักว่าใครผิด ให้ว่าผิดไปตามกฎหมาย ส่วนประเด็นปราสาทพระวิหารที่ยังยืดเยื้อ อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์” กล่าวน้ำเสียงจริงจัง

/// สภาบ้านนอก...สู่สภาหินอ่อน

รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ในวัย 53 ปี ผ่านประสบการณ์ทำงานภาคการเมืองมาไม่น้อย หากไล่เรียงประวัติส่วนตัวแล้วนับว่ามีดีกรีไม่ธรรมดา คุณปรีชาเป็นชาววังสะพุง จ.เลย จบการศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา จาก Mapua Institute of Technology ประเทศฟิลิปปินส์ และปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการศึกษาเพื่อการพัฒนา ม.ราชภัฏเลย สมรสกับ เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย มีบุตร-ธิดา 4 คน คือ ศโรธร, มณีรัตน์, เมธินี และ เศรษฐา

คุณปรีชาเริ่มต้นทำงานเป็นวิศวกรโยธาประจำกองควบคุมการก่อสร้าง สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ระหว่างปี 2526-2528 ทว่าสนใจเรื่องการเมืองมาโดยตลอด ชีวิตหันเหสู่สนามการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) ทำ 8 เดือน ตัดสินใจลงสนามเลือกตั้งใหญ่ในปี 2529 ครั้งแรกก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.เลย สังกัดพรรคสหประชาธิปไตย ก่อนย้ายมาสังกัดพรรคกิจสังคม กระทั่งปี 2535 เป็น ส.ส.อีกครั้ง พร้อมดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย

ถัดมาในการเลือกตั้งวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 ชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 เป็นผู้ช่วยเลขานุการ สุวิทย์ คุณกิตติ อดีต รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2539 ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2540 เป็นเลขานุการ รมว.กระทรวงการสาธารณสุข รักเกียรติ สุขธนะ

ปี 2544 เป็นรองหัวหน้าพรรคเสรีธรรม ก่อนนำพรรคย้ายไปรวมกับพรรคไทยรักไทย หลังการเลือกตั้งปี 2548 เป็นต้นมา เขาชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดเลยทุกครั้ง จนได้รับความไว้วางใจให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นครั้งแรกในสมัยรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์

//ประชาชน คือ เจ้านาย

ไม่เพียงครองตำแหน่ง ส.ส.จังหวัดเลย 10 สมัย เขายังเป็นแกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา ซึ่งมีบทบาทในการเจรจาและต่อรองทางการเมืองกับพรรค และนี่เองที่ทำให้ ครม.ยิ่งลักษณ์ 1 มีชื่อของเขาผงาดขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการผลักดันของ ส.ส.ภาคอีสานของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

“ผมทำงานการเมืองตั้งแต่ปี 2528 เริ่มจากตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัด ปี 2529 เป็น ส.ส.สมัยแรก โดยผมยึดอุดมคติว่าคนที่เป็นเจ้านายคือ พี่น้องประชาชน เพราะพี่น้องประชาชนไว้วางใจ ทำให้ผมได้เป็น ส.ส.ถึง 10 สมัย (ยิ้ม) เป็นสิ่งที่เราต้องขอบคุณพี่น้องประชาชนไว้ตรงนี้ด้วย” เมื่อถามว่าเหตุผลใดถึงมาเดินบนถนนการเมือง ท่านรัฐมนตรีเผยด้วยรอยยิ้มเช่นเคยว่า “จริงๆ ผมไม่อยากเป็นนักการเมือง แต่เป็นเพราะผู้ใหญ่บางท่าน…เมื่อเข้ามาแล้วผมต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะเจ้านายผมคือ ชาวบ้าน คือต้องเอาปัญหาของชาวบ้านเป็นที่ตั้ง เราเป็นนักการเมืองต้องตระหนักแล้วเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง”

ประสบความสำเร็จทางการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้ ส.ส.10 สมัยเผยเคล็ดลับด้วยใบหน้าแช่มชื่น “หลักการทำงานของผมต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ต้องรู้ให้จริง ก็จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ สมัยผมเป็น รมช.กระทรวงมหาดไทย เพียง 3 เดือน ผมออกไปช่วยเหลือชาวบ้านเรื่องน้ำท่วมอย่างเต็มที่ จริงๆ เราต้องรู้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ดิน ปัญหาธรรมชาติ และปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่ออยู่ตรงนี้ต้อง ผลักดันทำตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงให้สอดคล้องกัน เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายและเป็นรูปธรรม ผมมีวันนี้ได้เพราะผู้ใหญ่เห็นการทำงานของเรามากกว่า” บอกเล่าอย่างภาคภูมิใจ

ด้วยความมุมานะ ตั้งใจในการทำงาน บวกกับประสบการณ์ภาคการเมืองกว่า 25 ปี ชื่อของ ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข จึงก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไร้ข้อกังขา

////////////////////////////////

Key to Success

“หลักการทำงานของผมต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ต้องรู้ให้จริง ก็จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น