สุทธิคุณ กองทอง หนุ่ม

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

“ความพอดี” อยู่ที่ไหน? ธรรม (ทำ) พอดี…ปริษา ปานะนนท์


นิตยสาร WhO?

เรื่อง : ว.วชิรเมธี ภาพ : กองบรรณาธิการ

“ความพอดี” อยู่ที่ไหน?

ธรรม (ทำ) พอดี…ปริษา ปานะนนท์

เคยโลดแล่นอยู่ในแวดวงบันเทิงทั้งเป็นนักแสดง พิธีกร แต่ปัจจุบัน คุณน้ำ-ปริษา ปานะนนท์ เปลี่ยนเส้นทางชีวิตด้วยการเป็นผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสมรส คุณสาม-ภูเดษ จันทรางกูร โดยมีโซ่ทองคล้องใจ 2 คน

ความที่เป็นเวิร์กกิ้งวูแมน และคุณแม่ของลูกสาว 2 คน เธอจึงมีคำถาม (ปุจฉา) ถึง พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัยว่า “เป็นคนไม่ค่อยมีความพอดี รักลูกและคาดหวังมากเกินไป แบบนี้จะรักอย่างไร โดยไม่ต้องคาดหวัง หรือบางครั้งทะเยอทะยานในการทำงาน ทำให้เกิดทุกข์ แต่ทำเพื่อเติบโตในหน้าที่การงาน แล้วความพอดีอยู่ตรงไหน หรือบางครั้งคนที่ต่อว่าเรา แต่แนะให้เราปล่อยวาง บางครั้งปล่อยวางมากไปหรือเปล่า ทุกอย่างตรงนี้อยากรู้ว่าความพอดีอยู่ตรงไหน”

พระมหาวุฒิชัย วิสัชนา

ขอแยกตอบเป็น 3 คำถาม

(1.) เรื่องความรักลูก

ในทางพุทธศาสนาบอกว่า ความรักของแม่ที่มีต่อลูกนั้นต้องเป็นความรักที่มาพร้อม กับปัญญาเสมอ เพราะหาไม่แล้วความรักก็จะมากเกินไป หรือน้อยเกินไป จนกลายเป็นความลำเอียง เช่น แม่ที่รักลูกมากก็จะทำอะไรให้ลูก หรือทำแทนลูกไปเสียทุกอย่าง ผลก็คือลูกกลายเป็นลูกแหง่ หรือลูกง่อยกลายเป็นเด็กอ่อนแอ ทำอะไรไม่เป็น พึ่งตัวเองไม่ได้ แต่ถ้ารักลูกน้อยเกินไป ลูกก็เกิดปมด้อย ต้องไปเรียกร้องหาความรักจากคนอื่น กลายเป็นปัญหาของลูกและของสังคมในอนาคต

การเลี้ยงลูกหรือให้ความรักต่อลูกจึงต้องการความ “พอดี”

เกณฑ์วัดความพอดีในเรื่องนี้ คือ “พรหมวิหารธรรม” 4 ประการ คือ

1. ในยามปกติต้องเมตตา (รัก/เมตตา/ห่วงหาอาทร)

2. ในยามมีปัญหาต้องกรุณา (ช่วยแก้ปัญหา)

3. ในยามได้ดีมีสุขต้องมุทิตา (ยินดี/ส่งเสริม)

4. ในยามทำผิดต้องอุเบกขา (ผิดว่าไปตามผิด/ไม่ลำเอียง)

ถ้านำพรหมวิหารธรรมเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการเลี้ยงลูกก็ให้ปฏิบัติต่อลูกอย่างสมดุล ไม่เอนเอียง จนลูกเสียคน เพราะตามใจ หรือฝืนใจมากเกินไป

(2.) เรื่องการทำงาน

การทำงานให้ประสบความสำเร็จนั้น ทางพุทธศาสนาให้หลักการที่เป็นกลางๆ ไว้ว่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องปฏิบัติตามหลัก “อิทธิบาท 4” คือ

1. มีใจรัก (ทำในสิ่งที่รัก/ที่ถนัด=ความสุขจะเกิดมาเอง)

2.พากเพียร (ขยันขันแข็ง)

3.จดจำจ่อจิด (ทุ่มเท/อุทิศตน)

4.วินิจวิจัย (ใช้ปัญญา/ไม่ใช้อารมณ์ทำงาน)

ทุกครั้งที่ทำงานให้สำรวจดูว่าได้ใช้หลักธรรมนี้หรือไม่ ถ้าใช้แล้ว จะมีความก้าวหน้าตามมาอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องความทะเยอทะยานนั้น ถ้าเป็นความต้องการเติบโตอย่างถูกต้อง ไม่ใช้วิธีที่ผิดก็สามารถทำได้ การทำงานนั้นต้องยึดถือหลักสายกลางเสมอ ไม่ทำงานหนักจนเกินความสามารถที่ร่างกายและจิตใจจะแบกรับไหว ต้องไม่ลืมว่า อะไรที่สุดโต่งมักจะเสียสมดุล ต่อให้ทุ่มเทแค่ไหน ถ้าเลยเส้นแห่งความพอดีไปก็ไม่ดี เปรียบเหมือนอาหารที่เราชอบ

แม้อร่อยแค่ไหน ถ้ารับประทานมากจนท้องรับไม่ไหว สิ่งที่ชอบก็เป็นอันตรายได้เหมือนกัน การทำงานก็เป็นอย่างนั้น ถ้ามากเกินไปก็ไม่ดี หลักการแห่งความพอดีในเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับ “การทำงานให้ประสานกับคุณภาพชีวิต คือผลสัมฤทธ์ิของทางสายกลาง” ถ้างานได้ผลแล้วคนไม่เป็นสุขก็ไม่ดี คนเป็นสุขแต่งานเสียก็ไม่ดี ต้องทำงานและดูแลชีวิตจนเกิดภาวะ “งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข” นี่แหละ คือทางสายกลาง

(3.) เรื่องการปล่อยวาง

ในเรื่องนี้พุทธศาสนาสอนว่า ถ้าถูกว่า ถูกตำหนิ ถูกปล่อยข่าวทำลาย เบื้องต้นให้ “รู้เท่าทัน” เพราะการอยู่ในโลกก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีใครถูกชม หรือถูกตำหนิอยู่ฝ่ายเดียว คำชม คำด่า จะเวียนกันเข้ามาสู่ชีวิตของเราอยู่เสมอ ใครถูกชมข้างเดียว หรือถูกด่าข้างเดียว นั่นเป็นเรื่องผิดปกติ ประการต่อมา เมื่อรู้เท่าทันแล้ว ก็ไม่ต้องไปเสียเวลา กับเรื่องธรรมดาของโลกอย่างนี้มากเกินไป เอาเวลาที่เหลือไปทุ่มเททำงานอื่นจะดีกว่า แต่ถ้าเรื่องยังไม่จบก็ควรหาโอกาสชี้แจงแถลงไขให้คนที่เข้าใจผิดนั้นเข้าใจให้ถูกต้อง เมื่อแถลงข้อข้องใจแล้ว ยังไม่ดีขึ้นก็ต้องอดทนต่อไป จำไว้ว่า “ความอดทนทำคนให้เป็นคนดี อดทนถึงที่ได้ดีทุกคน” หรือมองโลกในแง่บวกว่า “คนที่ว่าเรา นินทาเรา อิจฉาเรา ในทางกลับกัน ก็เท่ากับว่าเขากำลังชมเราอยู่ ไอน์สไตน์เคยกล่าวว่าเป็นการง่ายที่ทำตัวให้น่าสมเพช แต่การที่ใครสักคนดีเด่นจนถูกอิจฉา ถูกจับตา แสดงว่าคนๆ นั้นต้องยอดมาก” ถ้ามองโลกในแง่บวกอย่างนี้ก็ยิ้มออกได้เหมือนกัน สำหรับผู้เขียนเคยทั้งถูกชม ถูกด่า ไม่ว่าจะผ่านวิทยุ โทรทัศน์ หรือผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่ทุกวันนี้คำชม คำด่า ก็ไม่ได้ส่งผลต่อชีวิต ของผู้เขียนแต่อย่างใด เพราะผู้เขียนมักเตือนตัวเองว่า “ถูกชมก็เข้าท่า ถูกด่าก็ไม่เลว”

คนบางคนนั้นตั้งใจที่จะ “เข้าใจผิดเรา” ในทุกๆ เรื่อง ชี้แจงไปก็เท่านั้น แต่ประการสำคัญที่สุด เราต้องรู้จักตัวเองดี ดีจนไม่ต้องไปอ่านความคิดคนอื่นที่พูดถึงเราในทางที่ผิด มันเป็นเรื่องน่าสงสารที่ใครคนใดคนหนึ่งจะกล่าวหาเราด้วยสารพัดเรื่องทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเราแม้แต่น้อย คนที่ทำอย่างนั้นเป็นคนน่าสงสาร เพราะหากเป็น “มืออาชีพ” หรือ “ปัญญาชน” จะไม่เสียเวลาทำอะไรอย่างนั้น เนื่องเพราะ “มืออาชีพ” ทุกคน “ปัญญาชน” ตัวจริงทั้งหลายจะมีงานทำล้นมือ มีแต่คนที่ทำอะไรไม่เป็น คอยแต่อิจฉา เพราะมีเวลาว่างมาก มานั่งใส่สีตีไข่คนอื่นได้ทั้งคืนทั้งวัน คนเช่นนี้ควรแผ่เมตตาให้เขา ปล่อยเขาไปเถิด วันหนึ่งข้างหน้า หากเขามีปัญญามากกว่านี้ จะรู้เองว่า ชีวิตนี้ไม่ควรไปเสียเวลากับเรื่องไร้สาระอย่างการนินทากาเลเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น