สุทธิคุณ กองทอง หนุ่ม

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พรปีใหม่ ๒๕๕๕ (2555,2012) เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิต ท่าน ว.​ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี




พรปีใหม่ ๒๕๕๕

เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิต

........................

โดยท่าน ว.วชิรเมธี

ผู้ก่อตั้งมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ใครต่อใครต่างก็ปรารถนาจะพบเจอแต่สิ่งดีๆ ที่เป็นสิริมงคล แห่งชีวิต คำว่า “สิริมงคล” หมายถึง สิ่งที่ดีงาม ความสุขความเจริญ ความสำเร็จในหน้าที่การงาน และความรุ่งโรจน์โชตนาแห่งยศ ทรัพย์ อำนาจ เกียรติคุณชื่อเสียง ความพรั่งพร้อมด้วยบริษัทบริวาร และความมีสุขภาพดี เป็นต้น

ในโอกาสพิเศษเช่นนี้ ผู้เขียนขอมอบ “พุทธพร” เพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งชีวิตทั้ง ๕ ประการ ดังต่อไปนี้

"คบคนดี เรียนรู้จากคนดี คิดอย่างคนดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และเป็นคนดี"

1. คบคนดี

คนดี หมายถึง คนที่คิดดี (คิดด้วยเมตตา) พูดดี (พูดด้วยเมตตา) ทำดี (ทำด้วยเมตตา) หรือคนที่ถึงพร้อมทั้งความรู้ ความดีงาม มีชีวิตสะอาด เป็นวิญญูชน ที่สังคมยกย่องสรรเสริญว่าเป็นยอดคนที่น่าเอาอย่าง เราคบคนดีในฐานะที่เป็น “ต้นแบบแห่งความสุข ความสำเร็จ ความเจริญในชีวิต” เหมือนที่บารัค โอบามา ยึดเอามหาตมะ คานธี มาติน ลูเธอร์คิงส์ จูเนียร์ อับราฮัม ลิงคอร์น เป็นบุคคลต้นแบบแห่งชีวิต ผลก็คือ ทำให้ท่านได้รับแรงบันดาลใจและมุ่งมั่นฝันใฝ่อยากจะเป็นนักการเมืองชั้นนำและเมื่อทำตามความฝันก็ประสบความสำเร็จจริงๆ เพราะ “คบคนเช่นใดก็จะกลายเป็นคนเช่นนั้น คบคนดี ย่อมดีขึ้นทันตา คบคนเลว ย่อมตกต่ำลงทันตาเห็น”

2. เรียนรู้จากคนดี

การมีคนดีเป็นแบบอย่าง ทำให้เรารู้ว่า จะก้าวย่างไปในทิศทางใด เมื่อเราค้นจนพบบุคคลต้นแบบแล้ว สิ่งที่ควรทำก็คือ การ “ถอดบทเรียน” จากบุคคลเหล่านั้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จด้วยตนเองบ้าง ตามแนวทางที่ว่า “หากเธอศรัทธาในผู้ใด ก็จงซึมซับในคุณธรรมของเขา”

3. คิดอย่างคนดี

การคิดอย่างคนดี หมายถึง การคิดอย่างมีเหตุผล การรู้จักคิดเชิงวิเคราะห์ การมองสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบ รอบด้าน ทั่วถึง ถ่องแท้ ด้วยวิธีการแห่งปัญญา ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ตัดสินอะไรอย่างหุนหันพลันแล่น แต่รู้จักใช้ปัญญาวิเคราะห์วิจัยวิจารณ์อย่างลึกซึ้ง ใครก็ตามคิดดี ก็ย่อมจะมีชีวิตที่ดี เนื่องเพราะ “ชีวิตของเรา ก็คือ เงาของความคิด คิดดี ชีวิตก็ดี คิดไม่ดี ชีวิตก็แย่”

4. อยู่ในสถานที่ที่ดี

คนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี สิ่งแวดล้อมในที่นี้หมายถึง สภาพที่เอื้อให้ประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น สตีฟ จ๊อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล เกิดมาในชุมชนที่มีแต่วิศวกรคอมพิวเตอร์ทำงานกันอยู่มากมายหลายร้อยคน ผลก็คือ เขากลายเป็นคนที่หลงรักคอมพิวเตอร์ และนั่นก็คือ พื้นฐานสำคัญที่ทำให้เขาพัฒนาตนเองจนกลายเป็นนวัตกร (Innovator) ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก ที่สามารถสร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกไปตลอดกาลอย่างไอโฟน ไอพอด ไอแพด ไอแม็ค เป็นต้น สภาพแวดล้อมที่ดี คือ เหตุปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อความสุขความสำเร็จในชีวิตของคนคนหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องเพราะ “สภาพแวดล้อมที่ดี คือ ต้นทุนชั้นดีของความสำเร็จ” หรือ “คนที่จับปลา ในที่ที่มีปลา ย่อมจับได้ง่ายกว่าและมากกว่า”

5. เป็นคนดี

โลกนี้มีคนดีที่คู่ควรแก่การเจริญรอยตามอยู่เป็นอันมาก แต่ลำพังการชื่นชม ยกย่องสรรเสริญคนดีเพียงอย่างเดียว โดยไม่ลงมือเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนให้พัฒนาไปในทางที่ดีงาม ก็ย่อมจะสูญเปล่า ดังนั้น หากเราค้นพบคนดีที่สามารถยึดเป็นต้นแบบได้แล้ว ก็ควรเรียนรู้จากคนดี คิดอย่างคนดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และฝึกตนให้เป็นคนดีด้วยตัวเองให้ได้ คนดีที่เรายึดเป็นต้นแบบก็เหมือนรายการอาหารที่อยู่ในร้าน หากเราอยากอิ่ม ก็ต้องสั่งอาหารนั้นมากินจนอิ่มด้วยตัวเอง อุปมานี้ฉันใด อุปมัยก็ฉันนั้น การชื่นชมคนดีอย่างเดียวย่อมไม่พอ ต้องฝึกตนให้เป็นคนดีด้วยตัวเองด้วย จึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ

คบคนดี เรียนรู้จากคนดี คิดอย่างคนดี และเป็นคนดี 5 ประการนี้ คือ สิริมงคลแห่งชีวิต ตลอดปีและตลอดไป.

เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิต

..................

สิ่งที่เธอควรมี "สติปัญญา" สิ่งที่เธอควรแสวงห "กัลยาณมิตร" สิ่งที่เธอควรคิด. "ความดีงาม" สิ่งที่เธอควรพยายาม. "การศึกษา" สิ่งที่เธอควรเข้าหา "นักปราชญ์" สิ่งที่เธอควรฉลาด "การเข้าสังคม" สิ่งที่เธอควรนิยม "ความซื่อสัตย์" สิ่งที่เธอควรควรตัด “อกุศลมูล" สิ่งที่เธอควรเพิ่มพูน "มูลกุศล" สิ่งที่เธอควรอดทน "การดูหมิ่น" สิ่งที่เธอควรยิน "พุทธธรรม" สิ่งที่เธอควรจดจำ "ผู้มีคุณ" สิ่งที่เธอควรเทิดทูน "สถาบันกษัตริย์" สิ่งที่เธอควรขจัด "ความเห็นแก่ตัว" สิ่งที่เธอควรเลิกเมามัว "การพนัน" สิ่งที่เธอควรสร้างสรรค์ "สัมมาชีพ" สิ่งที่เธอควรเร่งรีบ "การแทนคุณบุพการี" สิ่งที่เธอควรปฏิบัติทันที "ทำวันนี้ให้ดีที่สุด"

(ว.วชิรเมธี)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น