นิตยสาร WhO?
เรื่อง : ว.วชิรเมธี ภาพ : กองบรรณาธิการ
อ่านสังคมไทยโดยใช้อริยสัจ
ทางออกความแตกแยก…อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์
เริ่มต้นชีวิตบนเส้นทางการเมืองตั้งแต่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ข. และ ส.ก. จนปัจจุบัน อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ ได้เป็น ส.ส.เขต 2 กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ทว่าบ้านเมืองยังแบ่งแยกสีกันอยู่ เธอจึงมีคำถาม (ปุจฉา) ถึง พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ว่า "จะสามารถใช้แนวทางธรรมะอย่างไรเพื่อให้ประชาชนมีสติและหลุดพ้นจากปัญหาการแตกแยก หรือการแบ่งพวก ขาดความสามัคคี และที่สำคัญคือ ขาดสติ ไม่รับรู้ หรือตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างความถูกหรือผิด อันนำมาซึ่งความถดถอยจนเกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในที่สุด"
พระมหาวุฒิชัย วิสัชนา
ธรรมะที่นำมาใช้แก้ปัญหาบ้านเมืองของเรา ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แตกสามัคคี มีความเกลียดชังสูง และขาดสติคือ หลัก “อริยสัจ 4” ที่เป็นหัวใจพุทธศาสนา
อริยสัจ 4 ประกอบด้วย
1. ทุกข์ หรือปัญหา
2. สมุทัย หรือสาเหตุ
3. นิโรธ หรือทางออก
4. มรรค หรือวิธีดำเนินการแก้ไข
อริยสัจ 4 เป็นวิธีแก้ทุกข์ที่มีความเป็นสากล คือ นำมาใช้แก้ปัญหาได้ทุกประเภท และตลอดเวลาไม่มีความล้าสมัย เพราะวิธีแก้ปัญหาแบบอริยสัจ 4 ทำให้เราเข้าใจปัญหาคืออะไร สาเหตุของปัญหา ทางออกอยู่ตรงไหน และจะลงมือแก้ปัญหาอย่างไร
จากวิธีแก้ไขปัญหาแบบอริยสัจ 4 หากวิเคราะห์ปัญหาของสังคมไทยจะพบความจริงหลายอย่าง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขที่ถูกต้อง ไม่ใช่แก้กันแบบผิวเผินเหมือนทุกวันนี้ ในที่นี้จะชวนวิเคราะห์ปัญหาสังคมไทยเพียงบางแง่บางมุม เพราะหากวิเคราะห์ทั้งหมดต้องใช้เนื้อที่หลายหน้ากระดาษ เรามาดูกันว่า จากมุมมองแบบอริยสัจ 4 อะไรคือปัญหาของสังคมไทย และจะแก้ไขอย่างไร
1. ทุกข์ หรือปัญหาที่ปรากฏในเวลานี้
(1.) ความแตกสามัคคี
(2.) ความเกลียดชัง
(3.) การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
(4.) การปล่อยข่าวร้ายทำลายฝ่ายตรงข้าม
(5.) การขาดสติไม่มีความยั้งคิดในหมู่ประชาชน
(6.) การเมืองที่ขาดความโปร่งใสในแทบทุกมิติ
(7.) ค่านิยมคอร์รัปชั่นแพร่หลายในหมู่ประชาชนไทย
(8.) ช่องว่างระหว่างรายได้กว้างมาก
(9.) ความยากจนกระจาย ความรวยกระจุก
(10.) การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้มาตรฐาน
(11.) อำนาจถูกรวมไว้ที่ศูนย์กลาง
(12.) ทหารแทรกแซงการเมืองด้วยรัฐประหารและการจัดสรร
ดุลอำนาจทางการเมือง
(13.) การเมืองแบบธุรกิจครอบงำระบบประชาธิปไตย
(14.) นักการเมืองเห็นแก่ตัว, เก่งคอร์รัปชั่น, ขาดความจริงใจ
(15.) การกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม
(16.) มีขยะข้อมูลท่ีเป็นอันตรายต่อประชาชนอย่างท่วมท้นในสื่อมวลชน
2. สมุทัย หรือสาเหตุของปัญหา
(1.) โครงสร้างทางการเมืองแบบรวมศูนย์
(2.) โครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่ขาดความเป็นธรรม
(3.) การกระจายทรัพยากรที่ไม่ทั่วถึง
(4.) การศึกษาที่ขาดประสิทธิภาพ
(5.) การเมืองที่กลายเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ
(6.) การจัดสรรดุลอำนาจและผลประโยชน์ในสังคมไทยไม่ลงตัว
(7.) ความยากจน
(8.) การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ
(9.) การใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง
(10.) ภาวะสองมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย
(11.) คนไทยอยู่ในวัฒนธรรมความเชื่อมากกว่าวัฒนธรรมความคิด
(12.) การใช้สื่อด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
3. นิโรธ หรือทางออก
(1.) สังคมที่มีโครงสร้างยุติธรรม
(2.) การเมืองที่ปราศจากคอร์รัปชั่น
(3.) ประชาธิปไตยเต็มใบ
(4.) ความสามัคคีของคนในชาติ
(5.) กฎหมายที่มีมาตรฐาน
(6.) การกระจายทรัพยากรและรายได้ที่เป็นธรรม
(7.) สื่อที่เป็นมืออาชีพ
4. มรรค หรือวิธีแก้ปัญหา
(1.) ปฏิรูปการเมืองไทย
(2.) ปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ
(3.) ปฏิรูปการศึกษา
(4.) ปฏิรูปกฎหมาย
(5.) ปฏิรูปสื่อ
นี่คือตัวอย่างการมองปัญหาแบบอริยสัจ 4 อย่างง่ายๆ ไม่เน้นวิชาการ แต่ถึงกระนั้นก็ทำให้เราเข้าใจว่า ปัญหาทุกอย่างไม่ได้เกิดจาก “สาเหตุเดียว” ซึ่งการคิดอะไรง่ายๆ ในแบบ “เหตุเดียว ผลเดียว” จะทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ง่ายต่อการเข้าใจผิด ง่ายต่อการตัดสินคนอื่น ง่ายต่อการใช้ความรุนแรง แต่ถ้ารู้จักแก้ปัญหาอย่างเป็นองค์รวม มองสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบ รอบด้าน ใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา วันหนึ่งสังคมไทยก็จะก้าวออกจากวิกฤตได้อย่างแน่นอน
สิ่งที่ควรถามก็คือ ทุกวันนี้เราใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา หรือใช้การ “เกลี่ยผลประโยชน์” ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ ถ้าทำแค่อย่างหลัง ความรุนแรงทุกรูปแบบจะยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข