นิตยสาร WhO?
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : นพพล ภาคสุทธิผล
นักข่าวฝีปากกล้า...คู่ปรับนายกฯ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”
“สมจิตต์ นวเครือสุนทร”
“ถามหาความจริง...ไม่ใช่หาความเห็น”
ที่ผ่านมาน้อยคนนักที่สังคมไทยจะเห็นนักข่าวหญิง กล้าที่จะใช้คำถามจี้ใจดำผู้บริหารประเทศมาแล้วหลายคน แม้โดนคุกคามอย่างไร แต่เธอยื่นยันชัดเจนจะทำหน้าที่แทนประชาชน “เราไม่ควรที่จะถามหาเพียงแค่ความเห็น แต่เราควรถามเพื่อที่จะหาความจริง”
จากข่าวคราวที่โด่งดังระหว่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ สมจิตต์ นวเครือสุนทร อายุ 42 ปี ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 จนถูกส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ลูกโซ่ข่มขู่ ด้วยการโพสต์ภาพถ่าย และระบุข้อมูลส่วนตัว ทั้งชื่อและนามสกุล ว่าเป็นผู้ซักถามนายกรัฐมนตรีจนต้องเดินหนี จนภายหลัง พรทิพย์ ปักษานนท์ ประธานกลุ่มคนเสื้อแดงเพชรบุรี เป็นผู้ออกมายอมรับว่าเป็นผู้ส่งจดหมายดังกล่าวเอง พร้อมทั้งระบุว่าจะเดินทางมาขอโทษ สมจิตต์ เพราะไม่มีเจตนาที่จะข่มขู่นั้น WhO? ได้นัดพูดคุยกับเธอในวันที่ลาพักร้อนไปเรียนวิชาเย็บปักถักร้อยที่ห้างดังย่านแจ้งวัฒนะพอดี และยืนยันที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่ฟอร์เวิร์ดเมล์ให้ถึงที่สุด เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่างกับสังคม…
//คำถามแทงใจนายกฯ?...
เหตุการณ์วันที่สัมภาษณ์ นายกฯยิ่งลักษณ์ จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตของสื่อสารมวลชน เพราะเป็นคำถามที่จี้ใจดำ จนนายกฯ ถึงกับเดินหนี เพียงเพราะคำถามนี้ "การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ คิดจะทำอะไรเพื่อประเทศชาติและประชาชนบ้างหรือไม่? โดยก่อนหน้านี้เธอมีโอกาสได้สัมภาษณ์ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ถึงสองครั้ง ครั้งแรกเป็นช่วงที่นายกฯ เดินทางเข้าไปในสภา เลยได้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโฉมหน้ารัฐมนตรี ถือเป็นวันแรกที่มีรายชื่อรัฐมนตรีออกมาพอดี
“เราตั้งคำถามว่า โฉมหน้ารัฐมนตรีเป็นยังไง เขาวิจารณ์กันว่า ขี้เหร่กว่านายกรัฐมนตรี ก็ถามแบบนี้แต่วันนั้นนายกฯยิ่งลักษณ์ก็เดินหนีแล้ว ซึ่งไม่ได้มีปฏิกิริยามากอะไร แต่ก็ได้มีการสอบถามว่านักข่าวหญิงคนนี้เป็นใคร ซึ่งอาจเป็นเรื่องธรรมดาของแหล่งข่าวก็ได้ เพราะเจอนักข่าวคนนี้ถามเยอะก็คงอยากรู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหนอย่างไร”
แต่ครั้งที่น่าจะเป็นเรื่องเป็นราวที่ทำให้นายกฯยิ่งลักษณ์ น่าจะโกรธ เพราะสังเกตจากสีหน้ากับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ “จริงๆแล้วมันเป็นสิทธิ์ที่เราจะถาม แล้วเขาไม่ตอบก็ได้ เพราะตัวแหล่งข่าวเขามีสิทธิ์คิดว่าเขาอยากจะตอบคำถามไหนก็ได้ พี่ก็อยากยืนยันว่าสิ่งที่พี่ถาม เป็นสิ่งที่สังคมตั้งข้อสงสัยอยู่ในขณะนั้นเนื่องจากวันนั้นเป็นวันที่มีการเปิดเผยตัวนโยบายที่จะมีการแถลงต่อรัฐสภาเป็นครั้งแรก และมีการกำหนดตัวรัฐธรรมนูญอยู่ในนโยบายเร่งด่วน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่คุณยิ่งลักษณ์หาเสียง ว่าเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เรื่องปากท้องจะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ปรากฎว่าในการแถลงนโยบาย มีการบรรจุเรื่อง รัฐธรรมนูญมาเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี”
ในวันนั้นหลายคนมองว่า คำถามที่เธอถามนายกฯ เป็นคำถามของพื้นฐานอย่างมาก เพราะเป็นคำถามว่า ทำไมถึงมีการกำหนดเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งผิดไปจากที่เคยหาเสียงไว้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคุณทักษิณ ซึ่งเป็นพี่ชายของคุณยิ่งลักษณ์ในเรื่องของการนิรโทษกรรมหรือเปล่า คุณยิ่งลักษณ์ก็บอกว่าไม่เกี่ยวหรอกเป็นเรื่องที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมถ้าเกิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ และประชาชนจะได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้
คำถามต่อไป เธอถามว่า ถ้าประชาชนได้ประโยชน์อย่างที่คุณยิ่งลักษณ์พูด ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ คราวนี้คุณยิ่งลักษณ์ไม่ตอบแล้ว มาถึงตรงนี้คุณยิ่งลักษณ์ก็มีท่าทีที่จะเดินหนีแล้ว จากนั้นนักข่าวสาวก็มีการถามต่อว่า ตั้งแต่ท่านมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีประชาชนได้ประโยชน์จากการเป็นนายกรัฐมนตรีของท่านบ้างหรือยัง นอกจากคุณทักษิณที่เป็นพี่ชาย เพราะในช่วงเวลานั้นมีเรื่องของการขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น คำถามนี้เกิดจากที่คุณทักษิณได้วีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางญี่ปุ่นบอกว่า รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายร้องขอให้ทางเขาอนุมัติวีซ่าเป็นกรณีพิเศษ
“เรื่องเหล่านี้พี่ขอยืนยันว่า มันเป็นสิ่งที่สังคมตั้งข้อสงสัย ไม่ใช่เป็นการตั้งคำถามแบบมีอคติ ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์มีสิทธิ์ที่จะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ การตอบหรือไม่ตอบของคุณยิ่งลักษณ์ มันจะเป็นการสะท้อนตัวคุณยิ่งลักษณ์ที่สาธารณะจะมองคุณยิ่งลักษณ์เอง แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นจะกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ก็คือว่า คนเสื้อแดงมีการฟอร์เวิร์ดเมล์ ที่เป็นภาพพี่ พร้อมกับรายละเอียดชื่อ นามสกุลไปลง โดยเฉพาะมีถ้อยคำที่ระบุเกี่ยวกับว่า จำหน้าหล่อนเอาไว้นะครับ เจอที่ไหนช่วยจัดให้หน่อย(หัวเราะ) อย่างคำว่าจัดให้ ทาง ร.ต.อ.เฉลิม พูดในสภาฯ จัดให้ตามพจนานุกรมนี้ มันไม่มีอะไรที่บอกว่าเป็นการคุคาม พี่ก็เลยแซวกลับไปนิดหนึ่งว่า คำว่าจัดให้มีคำว่าปื๊ดน้ำหน้า ทาง รองนายกฯ อาจจะคิดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ รองนายกฯ อาจจะคิดอีกอย่างหนึ่งก็ได้(หัวเราะ)” นี่เป็นคำถามที่ยังไม่มีโอกาสได้ถามรองนายกฯ เฉลิม
“วันนั้นเป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้ตั้งคำถาม ที่นายกฯยิ่งลักษณ์ไปสภาฯ แต่หลังจากนี้คงไม่ง่ายที่จะได้ถาม เพราะพูดจริงๆ วันที่ตั้งคำถามไป ก็มีคนติดตามคุณยิ่งลักษณ์ไปพูดกับนักข่าวที่ตามคุณยิ่งลักษณ์ว่า ทำไมวันนั้น ถึงปล่อยให้นักข่าวสภาถาม ไล่บี้นายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่มีใครตั้งคำถามช่วย ตรงนี้พี่คิดว่ามันเป็นเรื่องเศร้าใจมากนะ คือว่า หนึ่งเศร้าใจวิธีคิดของแหล่งข่าวว่า นักข่าวจะต้องช่วยเขามันแย่ สองแย่กว่านั้นถ้ามีนักข่าวคนไหนทำแบบที่เขาพูด นั่นก็แสดงว่าเรากำลังมีปัญหาเรื่องวิชาชีพ”
“การทำหน้าที่จากนี้ไปก็ยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าพี่ทำงานมายังไงกว่า 10 ปี พี่คิดว่าก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในการทำหน้าที่ เพราะหลักของเราก็คือ หาความจริงให้กับสังคม สิ่งที่พี่จะต่างจากคนอื่นก็คือ ที่คนจะมองว่าเป็นการไล่บี้ แต่พี่ไม่คิดว่านี่เป็นการไล่บี้ เราต้องถามหาความจริง ไม่ใช่ปล่อยให้เขาโกหก โดยที่เราไม่จับโกหกเขา พี่เองเป็นคนทำการบ้านก่อนที่จะถามแหล่งข่าว ปัญหาของสื่อตอนนี้ที่พี่คิดว่าเป็นจุดอ่อนอยู่ตอนนี้คนมักจะคิดคำถามมาจากบ้าน พอถามคำถามที่คิดมาจากบ้านก็หยุดถาม แต่ไม่ได้ฟังตัวคำตอบว่าคำตอบมันไหลไปตรงไหนแล้ว ไม่มีคำถามต่อเนื่องที่จะต่อยอดจากคำตอบที่เขาตอบมา จริงๆแล้วคำตอบของเขาสำคัญมาก เพราะคำตอบจะมีประเด็นอะไรทีเป็นข้อสงสัย ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะวัดว่านักข่าวแต่ละคนได้ทำการบ้านแต่ละเรื่องมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราทำการบ้านในแต่ละเรื่องว่าเราจะมีคำถามต่อเนื่องได้เยอะ
//ไม่มีคติต่อ รัฐบาลยิ่งลักษณ์
จากนี้ไปเธอยืนยันไม่มีปัญหากับยิ่งลักษณ์ ที่ได้ก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าประชาชนให้โอกาสและให้เกียรติเข้ามาบริหารประเทศ แต่มีใครสักกี่คนที่ทำงานการเมือง 49 วัน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
“คำถามมีอยู่ว่า 49 วันที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะรักษาอำนาจต่อจากนี้อีก 4 ปียังไง นี่คือโจทย์สำคัญ สิ่งที่ทำให้ 4 ปีอยู่ราบรื่น นั่นก็คือ คุณต้องทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่เรื่องง่ายหรอกสำหรับคุณยิ่งลักษณ์ พี่เห็นใจนะ เพราะว่าไม่ว่ายังไงคุณยิ่งลักษณ์ก็คือ น้องสาวของคุณทักษิณ สายเลือดมันตัดกันไม่ขาด ตราบใดยังมีประโยชน์ของคุณทักษิณที่คาบเกี่ยวอยู่ มันเป็นเรื่องยากลำบากในการตัดสินใจเชิงบริหาร ที่มาถึงตัวนายกรัฐมนตรี แต่คุณยิ่งลักษณ์พูดเสมอ หนึ่งแก้ไขไม่แก้แค้น สองสลายทุกข์สร้างสุข สามไม่ทำเพื่อประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง แต่จะทำเพื่อสังคมส่วนรวม ยังไม่ถึงเดือนของการบริหารประเทศ” เธอตั้งข้อสังเกตแล้วว่าคนไทยมีคำตอบว่าคุณยิ่งลักษณ์ทำเพื่อญาติหรือทำเพื่อชาติ
“ฉะนั้นถ้าถามว่า ทัศนคติของพี่เป็นลบกับคุณยิ่งลักษณ์ไหม ตอบได้ว่าไม่ใช่ การกระทำนั่นแหละจะวัดทัศนคติของคนที่มีต่อคุณยิ่งลักษณ์อย่างไร พี่ถามง่ายๆว่า คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี อยากได้คำตอบที่เป็นเชิงนโยบายของเขาไหม ว่ากองทุนมั่งคั่งทำเพื่ออะไร จะเอาเงินส่วนไหนมาทำ หรือเราอยากได้แค่คำตอบว่า ให้คุณไปถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือเราอยากได้คำตอบไหมว่า การโยกย้ายข้าราชการระดับ 11 ซึ่งเป็นอำนาจนายกฯโดยตรงซึ่งไม่มีใครทำได้แต่นายกฯต้องเป็นคนทำ เราอยากได้คำตอบจากนายกฯไหม หรืออยากได้คำตอบว่า ให้ไปถาม พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ หรือให้ไปถาม ร.ต.อ.เฉลิม พอมันมาเป็นแบบนี้ปุ๊บ มันจะมีคำถามหนึ่งที่ย้อนกลับมา ซึ่งแรงมากว่าเราจะมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ยิ่งลักษณ์ทำไม เรามีแค่ ร.ต.อ.เฉลิม พล.ต.อ.โกวิท เราก็ดูได้แล้ว ทั้งๆที่อำนาจโยกย้ายข้าราชการระดับ 11 เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น มอบหมายไม่ได้ด้วยนะ พี่คิดว่าสิ่งที่พี่พูดมันไม่ใช่ทัศคติส่วนตัว แต่มันจะเป็นผลที่จะเกิดจากการกระทำ” ตรงนี้เธอเชื่อว่า มีคนทั้งประเทศไม่น้อยที่มีความรู้สึกและการแสดงความคิดเห็นที่ไม่แตกต่างกัน
//เมืองไทยมีนายกฯ 3 คน?....
เมื่อยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯหญิงคนแรกของเมืองไทย มีหลายคนตั้งคำถามว่า ด้วยความเป็นนายกรัฐมนตรีหญิง ที่ถูกตั้งคำถามแรงและดุเดือดไปหรือเปล่า นักข่าวสาว ยิ้มแล้วให้ความเห็นว่าประชาชนน่าจะมีคำตอบเหมือนเธอ
“คนเป็นนายกฯ มันต้องเลิกคิดถึงเพศกันแล้ว เพราะว่าในความเป็นผู้นำ เขาต้องสามารถตอบได้ทุกคำถาม เพื่อที่จะได้ให้ความกระจ่างกับสังคม คำถามถ้าหากตอบไม่ได้ หรือไม่ตอบ ไปบอกว่าตอบไม่ได้เดี๋ยวจะกล่าวหามากเกินไป หรือไม่ตอบ พี่ว่าตัวคุณยิ่งลักษณันั่นแหละเสียโอกาส เพราะเวลาทุกคำถามที่ออกไป นั่นแสดงว่ามีข้อสงสัยในสังคม เมื่อเลี่ยงที่จะไม่ตอบนั่นก็คือเสียโอกาสในการชี้แจงกับประชาชน วันนี้มันสะท้อนแล้วว่า คุณยิ่งลักษณ์ หรือทีมที่ปรึกษาที่เลือกให้คุณยิ่งลักษณ์ทำในวันนี้ มันทำให้ภาพภาวะความเป็นผู้นำอาจจะติดลบด้วยซ้ำในสายตาคนทั่วไป
“มันเหมือนกับว่า ในต่างประเทศมีคุณทักษิณเคลื่อนไหว คนก็จะมองว่ามีนายกฯ อยู่นอกประเทศหรือเปล่า ในสภามี ร.ต.อ.เฉลิม ตอบคำถามให้ หรือมีนายกรัฐมนตรีอีกคนอยู่ในสภา วันนี้ประเทศไทยมีนายกฯ 3 คนแล้วหรือเปล่า คนหนึ่งอยู่นอกประเทศ คนหนึ่งอยู่ในทำเนียบ และอีกคนหนึ่งอยู่ที่สภา มันใช่ไหม พี่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นผลดีกับนายกรัฐมนตรี และไม่มีผลดีกับประเทศด้วย เพราะว่าที่ผ่านมาเขมรแย่ที่สุดนะเพราะมีนายกฯสองคน แต่ตอนนี้ไทยมี 3 คน(หัวเราะ)รึเปล่า มันเลยมีคำถาม”
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลายคนมองว่า เป็นการบั่นทอนอาชีพสื่อสารมวลชนด้วยกันอย่างไรหรือไม่ “ความเห็นตรงนี้มันหลากหลาย คือคนมันมีสิทธิ์คิด คืออย่างที่บอกว่า เราทำอะไรไม่มีทางถูกใจ หรือแม้แต่เดี๋ยวคำว่าถูกต้อง มันยังต้องวัดเลยว่า มันเป็นความถูกต้องของใคร(ยิ้ม) ฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามถ้าเรามั่นใจในสิ่งที่เราทำ คือหนึ่งเรายึดส่วนรวมเป็นที่ตั้ง สองคือเราไม่ได้ทำเพื่อที่จะกลั่นแกล้งใคร พี่ว่ามันจบแล้ว โดยหน้าที่ของสื่อ พี่ยื่นยันอีกครั้งหนึ่งว่า เราไม่ควรที่จะถามหาเพียงแค่ความเห็น แต่เราควรถามเพื่อที่จะหาความจริง เราอย่าปล่อยให้นักการเมืองจำนวนไม่น้อย โกหกประชาชนโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือ”
//ใครสองมาตรฐาน??
กรณีที่แกนนำเสื้อแดงเพชรบุรี นัดมวลชนไปเจอกันที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมกับวางพวงหรีดหน้าช่อง 7 เพื่อเรียกร้องให้มีการปลดผู้สื่อข่าวช่อง 7
“พี่ก็ยืนยันว่า ทุกคนในประเทศนี้มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกได้ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ในเมื่อทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงออก มันก็ไม่ได้หมายความว่า การแสดงออกของแต่ละบุคคลมันจะสามารถไปกระทบหรือละเมิดสิทธิของคนอื่นได้ อย่างกรณีของพี่ คนเสื้อแดงอาจมีความรู้สึกไม่พอใจ มีสิทธิ์ที่ไม่พอใจได้ เพราะพี่เป็นสื่อเขาก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ หรือตั้งคำถามกับตัวพี่ได้เหมือนกัน แต่คำถามที่ว่าเขามีสิทธิ์ที่จะมาคุกคามเราได้หรือเปล่า หรือแม้กระทั่งถ้าพี่ไม่ใช่สื่อ เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาคุกคามประชาชนด้วยกันได้ และการที่เขาทำนั้นมันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของพี่ เขาไปกดดันว่า ให้พี่ถอนแจ้งความ ซึ่งคุณพรทิพย์เป็นคนที่ฟอร์เวิร์ดเมล์ แล้วก็ออกมายอมรับเองว่า ตัวเองเป็นคนฟอร์เวิร์ดเมล์ เพราะฉะนั้น ถ้าสังคมไทย ตั้งแต่เริ่มต้นเรายังไม่สามารถที่จะรักษาสิทธิที่มีตามกฎหมายได้ พี่คิดว่ามันอยู่ยากนะ ถ้าเราแค่อยากรักษาสิทธิตามกฎหมายของเราเนี่ย แต่มีคนกลุ่มหนึ่งมากดดันว่า คุณห้ามที่จะรักษาสิทธิตามกฎหมาย พี่คิดว่ามันอยู่ยากมาก และที่มันเป็นปัญหามาก บังเอิญว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนที่สนับสนุนรัฐบาล พอมันเป็นลักษณะนี้ปุ๊บเนี่ย
“คนก็ตั้งคำถามว่า รัฐบาลจะให้ท้ายหรือ ว่า ต่อไปนี้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ถ้าคนที่สนับสนุนรัฐบาลทำอะไรก็ไม่ผิด นี่คือมาตรฐานเดียวกันหรือเปล่า เพราะคนเสื้อแดงพูดอยู่เสมอว่า เขาออกมาเรียกร้องเป็นเพราะว่า สังคมนี้มีสองมาตรฐาน แต่วันนี้คนเสื้อแดงกำลังทำตัวอยู่เหนือมาตรฐาน คือว่า ไม่มีมาตรฐานไปจับจ้องเขาได้เลย ไม่มีอะไรดำเนินการใดๆได้เลย ไม่เคารพกติกา ไม่เคารพกฎหมายหรือเปล่า นี่คือสังคมตั้งคำถาม ซึ่งจริงๆแล้ว มันไม่ควรมีคู่กรณีเกิดขึ้นในสังคมนี้อีกแล้ว คนเสื้อแดงก็ไม่ควรเป็นคู่กรณีกับสื่อ ไม่ควรเป็นคู่กรณีกับสังคม เพียงเพราะว่าไปเป็นฐานอำนาจให้กับรัฐบาล และรัฐบาลก็ไม่ควรที่จะใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือเพียงเพื่อที่จะรักษาฐานอำนาจของตัวเอง หรือเป็นเครื่องมือที่จะทวงคืนอำนาจในช่วงเวลาหนึ่ง
“แต่วันนี้ต้องทำให้คนไทยสามารถอยู่ในประเทศนี้ได้อย่างปกติสุข นั่นก็หมายถึงว่า ทุกคนรักษาสิทธิ์ของตัวเองได้ ทำหน้าที่ของตัวเองได้ โดยที่คนอื่นๆเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน อย่างวันที่คนเสื้อแดงไปที่ช่อง 7 เขาก็เอาพวงหรีดไปที่ช่อง 7 เหมือนกัน ไม่มีใครไปกระทืบคนเสื้อแดงเลย(หัวเราะ) แต่วันที่จะเป็นนักศึกษาหรือไม่ก็ตามที่นำพวงหรีดไปวางหน้ารัฐสภา ไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นคนของใครยังไงนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องการเมืองที่เขาทำได้ แต่ปัญหามีอยู่ว่าเมื่อเขาพวงหรีดไปวางเป็นสิทธิที่เขาสามารถทำได้หรือเปล่า เขาก็ทำเหมือนคนเสื้อแดงทำที่เขาพวงหรีดไปวางที่ช่อง 7 แต่ไม่มีใครไปทำร้ายคนเสื้อแดง แต่วันนั้นที่หน้ารัฐสภามีการตะลุมบอน ทั้งชกทั้งล็อคคอนี่คือสิ่งที่อยากให้สังคมไทยเป็นหรือเปล่า คนไทยต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเราอยากให้สังคมเราอยู่บนจุดแบบนี้ไหม มันง่ายที่จะเรียกร้องว่าคุณทำซิ แต่มันยากที่จะเริ่มต้นกับตัวเราเองว่าเรานั่นแหละทำซิ คำว่า คุณธรรม ไม่ใช่ คุณนะทำ เพราะคุณธรรมมันต้องเริ่มจากเรา ไม่ใช่คุณนะทำ ที่ชี้ให้คนอื่นทำ วันนี้ปัญหาบ้านเมืองมีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความแตกแยกทางความคิด ตั้งแต่การปลุกระดมเพื่อให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น แล้วโดยธรรมชาติของคนในขณะนี้ การเสพสื่อ การดูข่าวสาร มันดูด้านเดียว พอเขาดูด้านเดียวเขาเชื่อ ซึ่งไม่แปลกว่าทำไมเขาเชื่อ เพราะว่าเขาฟังซ้ำๆ เหมือนเราฟังเพลงจากนักร้องคนหนึ่งที่ร้องเพลงห่วยแตกมาก พอเราฟังมันทุกวันเรายังฟังว่ามันเพลงเลย
“นี่ก็เหมือนกันเป็นการตอกย้ำข่าวสาร แล้วเราก็รู้อยู่ว่าเดี๋ยวนี้ก็มีสื่อที่ถูกตั้งขึ้นมา เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองเยอะพอสมควร อันนี้อาจทำให้คนสับสนกับข้อเท็จจริง ความเห็น ระหว่างตัวเป้าหมายที่มีการสื่อออกไปเพียงเพื่อที่จะหวังผลทางการเมือง ซึ่งประชาชนแยกแยะได้ยากมาก คนทำหน้าที่ในวันนี้ก็ทำงานยากมากขึ้น หนึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น อย่างเราทำข่าวม๊อบยากมาก แค่เรารายงานจำนวนคน ก็จะมีคนเอี้ยงหูฟัง ถ้ารายงานจำนวนคนน้อย แม้ว่ามันจะน้อยจริงๆ เราก็โดนแล้ว เขาจะไม่มีทางยอมรับเลย เขาก็จะว่าเราโกหก เราบิดเบือน ไม่ว่าจะไปสีไหนก็จะโดนเหมือนกันหมด นี่คือความยากลำบากของคนเป็นสื่อทั้งที่เรารายงานตามข้อเท็จริง
“ถ้าวันนี้รัฐบาลจะทำให้คนมีความอุ่นใจได้มากกว่านี้ ปรามหน่อยได้ไหม เพราะไม่จำเป็นหรอกที่จะมาเป็นองครักษ์พิทักษ์นอกสภา เพราะว่าวันนี้รัฐบาลแน่นมาก มีจำนวน สส.ถึง 300 เสียง เขาสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ อย่าเอาประชาชนมาเป็นเกาะกำบังเลย เพราะถ้ายังเป็นแบบนี้ความขัดแย้งก็ไม่จบ มีแต่ที่จะขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นด้วย
//ผลกระทบจาก “เสื้อแดง”
ที่ผ่านมาทางสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ยุติการคุกคามสื่อมวลชน พร้อมให้กำลังใจให้กับสมจิตต์ ที่ได้พยายามทำหน้าที่สื่อมวลชน โดยยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก และขอให้ผู้สื่อข่าวทุกคน ยึดมั่นในการทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม กล้าหาญ ปราศจากอคติ ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ แต่หลายคนยังอยากรู้ว่าเธอมีผลกระทบอะไรจากคนเสื้อแดง
“ไม่หรอกค่ะ ทุกคนมีหน้าที่ แล้วถ้าหากเมื่อไหร่ก็ตามถ้าเราหวั่นไหว แล้วเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้าทำหน้าที่ เพราะตกอยู่ในความหวาดกลัวเนี่ย สังคมนี้ก็คงจะอยู่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำหน้าที่สื่อมวลชน เราต้องมีความหนักแน่นมากกว่าคนอื่นในการทำงาน ก่อนที่ดิฉันจะมีการแจ้งความดำเนินคดี ดิฉันทราบว่าจะมีผลกระทบอะไรตามมา เราทำงานอยู่ในแวดวงข่าวมองออกว่า ทิศทางของเรื่องราวมันจะไปทางไหน แต่ว่าวันนี้ สิ่งที่อยากจะสะท้อนออกไป ผ่านการตัดสินใจครั้งนี้ก็คือ อยากจะบอกกับสังคมว่า ทุกๆคนอยู่ภายใต้กฎหมาย แล้วจะไม่มีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นเลย ถ้าแต่ละคนยังมีสติในการที่จะยั้งคิดว่า สิ่งที่ตัวเองทำมันผิดกฎหมายไหม ละเมิดสิทธิของคนอื่นหรือเปล่า โทษจะหนักหรือเบาไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือ ไม่มีใครมีสิทธิ์ทำผิดกฎหมาย และเมื่อมีคนที่ทำผิดกฎหมาย คนที่จะตัดสินถูกหรือผิดไม่ใช่ความรู้สึกจากคนใดคนหนึ่ง แต่ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ คือ ศาล ซึ่งพี่กำลังใช้ช่องทางนี้อยู่ค่ะ”
//ความดีย่อมคุ้มครอง
เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ หลายคนเป็นห่วงถึงความปลอดภัยในชีวิต ทางองค์กรได้มีมาตรการใดที่เข้ามาดูแลเป็นพิเศษหรือไม่อย่างไร งานนี้เจ้าตัวถึงกับยิ้ม “ถามว่าระวังตัวไหม คือพี่เนี่ยเป็นคนที่เรียบง่ายไม่ได้มีอะไรต้องระวังเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งพี่เชื่อมั่นในเรื่องของความดี แม้ว่าวันนี้คนในสังคมจะรู้สึกว่า ทำชั่วได้ดีมีถมไป(หัวเราะ) แต่พี่ยังเชื่อว่า ทำดียังไงก็ต้องได้ดี เพราะความดีจะเป็นเกราะคุ้มครองเรา อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องขอบคุณ องค์กรทุกๆองค์กรออกมาช่วยกัน ในการที่จะดูแลสื่อโดยภาพรวม พี่ไม่คิดว่าทุกองค์กรที่ออกมาทำเพื่อพี่นะ แต่พี่คิดว่าการที่เขาออกมามันคือการสะท้อนให้เห็นว่า สื่อมีสิทธิที่จะทำงานอย่างเป็นอิสระภายใต้ขอบเขตจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตาม ไม่ว่าสื่อคนนั้นชื่ออะไรเขาทำงานอย่างอิสระภายใต้ขอบเขตวิชาชีพของตัวเอง ไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะไปคุกคาม นี่คือสัญญาณที่องค์กรต่างๆที่เกี่ยวกับสื่อสารมวลชนส่งมา ผ่านเหตุการณ์ของพี่ ไม่ใช่ทำเพื่อปกป้องพี่ แต่ผ่านตัวเหตุการณ์เพื่อที่จะบอกคนที่ทำงานสื่อว่าต้องเข้มแข็ง ทำงานตามหน้าที่ของคุณ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
ซึ่งก็ต้องขอบคุณองค์กรที่ทางช่อง 7 และผู้บริหารก็ยืนยันว่า เราทำหน้าที่ตามปกติไม่ต้องกังวลกับปัญหาอื่นๆ และก็เคารพสิทธิของพี่ในเรื่องของการแจ้งความดำเนินคดี อีเมล์ดังกล่าวที่ถูกส่งไปในวันแรกคือ วันที่ 23 ส.ค. นั้นมีการส่งไปให้ผู้รับถึง 47 คน ซึ่งคนที่ได้รับก็ต้องกระจายกันส่งต่อไปอีกแน่นอน จนถึงวันนี้อาจจะเป็นพันคนแล้วก็ได้ ข้อความในอีเมล์ระบุว่า “เจอหน้าที่ไหนช่วยกันจัดให้หน่อยนะครับ”
สำหรับคดีนี้เป็นคดีลหุโทษ โทษเต็มที่ก็จำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท แต่ทำไมเธอถึงยังอยากดำเนินคดีเรื่องนี้ เพียงเพราะอยากให้เป็นคดีตัวอย่าง “การทำผิดกฎหมายมันไม่ควรเกิดขึ้นกับสังคมนี้ไม่ว่าโทษนั้นจะหนักหรือเบา มันก็คือการทำผิดกฎหมาย แล้วมันง่ายที่คุณพรทิพย์จะมาพูดหลังจากได้ไปแจ้งความแล้ว คุณพรทิพย์บอกว่าขอโทษ เสียใจ ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องของการคุกคาม พี่ถามกลับไปง่ายๆว่า ถ้าเราตั้งต้นอยู่ในความคิดที่ว่า ก่อนจะทำว่าเรื่องนี้ผิดกฎหมายหรือเปล่า เรื่องนี้ละเมิดสิทธิของคนอื่นไหม ความผิดลักษณะนี้จะเกิดไหม พี่ว่าไม่มีทางเกิดเลย เพราะเราได้คิดก่อนที่ทำแล้ว แต่วันนี้ปัญหาของสังคมไม่มีใครคิดเลยว่าสิ่งที่คุณทำมันละเมิดกฎหมายไหม มันละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่นหรือเปล่า
“คนไทยมักจะคิดอยู่คำหนึ่งว่า คุ้มไหม เพราะวันที่พี่ไปแจ้งความมีเพื่อนหลายคนที่หวังดี แกทำแบบนี้มันจะคุ้มหรือ มันไม่คุ้มหรอกเดี๋ยวศาลก็รอลงอาญา พี่เลยบอกเพื่อนกลับไปว่า ถ้าเราคิดว่าคุ้มไหมคุ้มมากกว่าเรื่องความถูกต้อง มันจะไม่มีบรรทัดฐานอะไรให้กับสังคม พี่รู้ว่าวันนี้ทำไปมันไม่คุ้มหรอก เหมือนอย่างที่พี่กำลังโดนแรงกดดันอยู่ในขณะนี้ ถามว่าก่อนทำรู้ไหม มันประเมินได้หมดแหละ เพราะเราทำข่าวมาตั้งนานว่าทิศทางของเรื่องจะเดินไปทางไหน มาถึงวันนี้ก็อย่างที่บอกว่า อยากให้มันเป็นคดีตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนเราต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เบาหรือหนักไม่ควรที่จะมีใครทำผิดหรอก แล้วอย่าไปคิดว่ามันคุ้มหรือไม่คุ้ม แต่ต้องคิดว่ามันถูกต้องหรือเปล่า
“ถ้ามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้องก็เดินหน้าไปเลย นี่คือสิ่งที่พี่ทำอยู่ตอนนี้ ตั้งแต่เกิดเรื่องมีคนโทรมาต่อว่าประมาณ 6 สาย แล้วก็ยังมีคนโทรไปที่บ้านก็มีนะ(ยิ้ม) พี่ก็ปล่อยให้เขาว่าๆๆ จนพอก็จะถามเขาว่า พร้อมที่จะฟังเหตุผลไหม ถ้าเขาบอกไม่พร้อมเราก็จะวางหู แต่ถ้าบางคนบอกว่าพร้อมเราก็จะอธิบายให้ฟัง แต่ก็มีสองคนที่บอกว่าพร้อมที่จะฟัง อย่างน้อยคนเราก็ไม่ได้ไร้เหตุผลกันไปทั้งหมด(หัวเราะ)”
//”สมจิตต์” ชื่อที่ทักษิณไม่ชอบ
จากประวัติของนักข่าวสาวคนนี้เป็นนักข่าวที่ติดตามการสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายคน โดยในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เธอตามสัมภาษณ์อยู่ได้ไม่เกิน 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็ถูกโยกย้ายให้ไปดูองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ปปช. “สาเหตุที่เกิดครั้งนั้น่ไม่อยากย้อนไป เพราะอาจจะเกิดผลกระทบกับส่วนอื่นๆได้ เอาเป็นว่าเขาย้ายพี่ให้ไปอยู่ในที่เหมาะสมกว่า(หัวเราะ) ตอนนั้นไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รู้เพียงว่ามีองค์กรอิสระใหม่ๆเกิดขึ้นเยอะ โดยเขาให้เหตุผลว่าอยากให้พี่ไปดูองค์กรเหล่านี้ เพราะเขามั่นใจว่าเรามีความรู้พื้นฐานทางด้านการเมืองและกฎหมาย ก็น่าจะดูได้ดี” ระหว่างนั้นก็มีความสุขกับการทำหน้าที่นักข่าวตามที่ได้รับมอบหมาย
หลังจากนั้นเธอได้มีโอกาสถาม พ.ต.ท.ทักษิณที่สภาอีกครั้ง จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตอีกเช่นกัน “ตอนนั้นเป็นช่วงคดีซุกหุ้น แต่จำคำถามไม่ได้แล้ว จำได้ว่าคุณทักษิณพูดว่าอะไร พี่ก็ถามเรื่องคดีซุกหุ้นนั่นแหละ คุณทักษิณก็หันกลับมาว่า สมจิตต์ถามคำถามธรรมดาเหมือนคนอื่นได้ไหม เรียกชื่อจริงด้วยนะ พี่ก็ถามย้ำอีกรอบ จากนั้นบอดี้การ์ดก็ผลักพี่กระเด็นออกไปเลยนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้สัมภาษณ์คุณทักษิณ”
เรียกว่าตั้งแต่นายกฯ ทักษิณ และสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เธอไม่ได้ตามนายกฯเลย กระทั่งมาถึงนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้มาตามทำข่าวอยู่ 2 ปี 7 เดือน พอมีการเลือกตั้งใหม่เธอถูกวางตัวให้ประจำที่รัฐสภา แต่เธอถูกมองว่า เป็นนักข่าวที่ใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์
“ไม่ต้องมองเลยว่าใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพี่เขียนหนังสือให้กับคุณอภิสิทธิ์ถึงสองเล่ม และของคุณกรณ์ จาติกวณิช อีกหนึ่งเล่ม ถ้าพี่คิดที่จะปกปิดในเรื่องของการรู้จักคงไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อจริง ใช้เป็นนามแฝงก็ได้ แต่ปัญหามันก็คือว่า เราแยกแยะได้หรือเปล่า ระหว่างความคุ้นเคยกับเรื่องส่วนตัวกับการทำหน้าที่ ซึ่งพี่คิดว่าพี่แยกแยะได้ และทุกคนสามารถที่จะตรวจสอบการทำงานของพี่ตั้งแต่ที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีพี่ตั้งคำถาม คิดว่าแรงกว่าคำถามที่ถามคุณยิ่งลักษณ์เยอะ เป็นการถามไล่บี้มากกว่านี้เยอะ(ยิ้ม) พี่มั่นใจนะ และพี่ไม่มีความรู้สึกกดดัน พี่ว่าคนเรามันง่ายที่จะใส่สีให้กับคนว่าคนนั้นสีนี้ คนนี้สีนั้น แต่ความจริงแล้วเราไม่เคยลงไปดูลึกเลยว่า คนเหล่านี้การทำงานของเขาเป็นอย่างไง อันนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยอีกอย่างหนึ่ง คือ มองทุกอย่างฉาบฉวยและผิวเผิน แล้วมันง่ายเวลาโทษกัน ไม่ต้องไปโทษอย่างอื่น
แต่กรณีของพี่เนี่ย พี่มั่นใจถึงแม้ว่าพี่จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับคุณอภิสิทธิ์ คุณกรณ์ แล้วพี่ยอมรับว่า พี่อาจจะมีความคุ้นเคยกับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคการเมืองอื่น เพราะว่า พี่ทำงานมาส่วนใหญ่จะดูพรรคประชาธิปัตย์ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า เราคือคนของประชาธิปัตย์ มันไม่ใช่
//ฉายา…แก๊งหมารอด
เธอเป็นคนแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา เรียนจบจากโรงเรียนดัดดรุณี อนุปริญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชชนครินทร์ ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ด้านวารสารศาสตร์ มีความใฝ่ฝันตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยม
“พอดีตอนช่วง ม.4 พี่จะเป็นเด็กเกเรมาก เห้วๆหน่อย ชอบหนีเรียนไปดูหนังกัน จนเกือบทางโรงเรียนจะให้ออก จนอาจารย์ฝ่ายปกครองก็จะขี่มอเตอร์ไซต์ดู พอเห็นพวกเราก็จับกลับโรงเรียน แล้วบอกว่าจะต้องเอาผู้ปกครองมา แล้วตอนเป็นเด็กเราทำผิดก็ไม่รู้สึกถึงความกลัว แต่พอรู้ว่าเรื่องนี้จะต้องถึงผู้ปกครอง เราจะรู้สึกว่าไม่อยากให้ถึง พอถึงเวลาเราก็ไม่ยอมที่จะไป ถ้าไม่บอกผู้ปกครองก็จะให้ออก เราก็รู้สึกว่าออกดีกว่าพ่อแม่จะได้ไม่รู้(ยิ้ม) จริงๆถึงวันนี้แม่ไม่มา วันนี้ออกไปแม่ก็ต้องรู้อยู่ดี(หัวเราะ) จนมีอาจารย์เอื้อมพร สอนภาษาไทย ทราบว่า เกิดกรณีอย่างนี้ท่านก็เลยไปที่ฝ่ายปกครอง แล้วก็บอกว่า ขอพี่ไว้ให้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนละกัน เพราะเขามีความสามารถด้านกลอนนะ ดังนั้นก็ให้อาจารย์เอื้อมพรไปดูแลละกัน เสร็จแล้วพี่ก็ยังมักมากอีก คือ ถ้าให้โอกาสหนู ก็ต้องให้โอกาสเพื่อนหนูด้วย(หัวเราะ) สุดท้ายทางอาจารย์เขาก็ให้นะ
“พวกพี่จะถูกเรียกว่า แก๊งหมารอด เพราะว่าประตูหลังของโรงเรียนมันจะมีรูอยู่ที่ให้หมารอด แต่พี่จะรอดรูตรงนี้หนีเรียนกัน จนเพื่อนก็ถูกจับให้ไปเล่นดนตรี ส่วนพี่ก็ให้เขียนกลอนประจำโรงเรียน และให้ไปทำนิตยสารของโรงเรียนชื่อ ดรุณีสาร พอเราเริ่มทำดรุณีสารก็เป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะเป็นนักข่าว พี่อยากทำเพราะว่าเราทำแล้วมีความสุข สนุกที่จะได้ทำแค่นั้นเอง”
หลังจากเรียนปี 3 ที่ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาก็ได้ไปฝึกงานที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า พอดีว่าคุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ เป็น บก. ค่อนข้างให้โอกาสมาก ถามว่าอยากทำงานเลยไหม ก็เลยตกลงทำงานเลย แต่ทำสัปดาห์ละ 3 วัน เพราะอยู่ปี 3 แล้วก็ไม่ได้มีเรียนเยอะ จำได้ว่าได้เงินเดือน 2,500 บาท พอเรียนจบก็ได้บรรจุทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า แต่ทำได้ประมาณ 3 ปี ก็ได้ย้ายมาทำที่ช่อง 7
“ทำงานอยู่ช่อง 7 ได้ระยะหนึ่งก็มีปัญหากับคุณบรรหาร ศิลปอาชา (หัวเราะ) ตอนนั้นเป็นเรื่องเศรษฐกิจ จนวันสุดท้ายที่มีการยุบสภา ได้เจอกับท่านบรรหารที่สภาได้มาถามพี่ว่า ซะใจเธอหรือยังละที่ฉันยุบสภา เราก็หัวเราะเฉยๆ จำไม่ค่อยได้แล้ว อย่าคิดว่าจะมีปัญหากับนายกรัฐมนตรีคนเดียว ตอนนั้นคุณบรรหารก็พยายามที่จะย้ายพี่ออกจากทำเนียบแต่ทางพี่ช่อง 7 ก็ไม่ได้ย้าย เป็นเพราะคำถามของเรา ที่จะมีผลกับทุกนายกฯอยู่แล้ว พี่ถึงบอกว่า พี่มั่นใจในการทำงานของตัวเอง เอาอย่างนี้ดีกว่า ตั้งแต่สมัยคุณชวน หลีกภัย สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นเป็นเรื่อง สปก. ท่านก็หันกลับมาตอบว่า คำถามมาจากบ้านก็กลับไปถามคุณพ่อคุณแม่หนูดูซิ แต่ว่าท่านเป็นคนน่ารักอย่างหนึ่งนะ เป็นคนไม่อาฆาต แต่ช่วงเวลานั้นอาจจะเป็นเรื่องของอารมณ์ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะท่านก็ยังเขียนคำนำในหนังสือให้ด้วยซ้ำไป”
สมัยคุณสมัคร สุนทรเวชา เป็นรองนายกรัฐมนตรี เธอจะถามบ่อยเลยได้มีฉายาเกิดขึ้น “เราถามเยอะจนคุณสมัครให้ฉายาว่า แม่ดาวนักถาม พอถามก็จะมีเถียงๆๆ แต่พอเดินออกจากวงสนทนาปุ๊บก็มากระซิบทันที เมื่อกี้สนุกไหม จริงๆ เพราะฉะนั้น เวลาตอบโต้ดูท่านจะเป็นคนดุดัน แต่ข้อดีของคุณสมัครไม่เคยอาฆาต แต่ก็เคยถามท่านกลับไปว่า ทำไมถึงต้องทำขนาดนั้น ดุดัน ท่านก็บอกไม่รู้มันเหมือนมีองค์ลง(หัวเราะ) ท่านสมัครมีมุมที่น่าศึกษามากนะ แล้วช่วงที่คุณประจวบ ไชยสาสน์ ยังทำงานอยู่ก็เรียกพี่ว่า แรมโบ้ เพราะแรมโบ้จะชนทุกเรื่อง
ระหว่างที่มีปัญหากับนายกฯ บรรหาร ประกอบกับกลัวว่าจะเป็นปัญหาให้กับองค์กรเธอจึงลาออกจากช่อง 7 “ความรู้สึกของเราเองนะ ทางช่องไม่ได้กดดันอะไร ตอนนั้นมันมีหลายเรื่องถ้าเราอยู่จะเป็นแรงกดดัน ไม่น่าไปสร้างความลำบากให้กับใคร เลยได้ออกไปจัดรายการที่วิทยุผู้จัดการจนปิดตัวไป มีเพื่อนชวนไปทำงานสื่ออีกหลายที่ แต่เรารู้สึกว่าเราเหนื่อย ก็เลยกลับบ้านไปขายโจ๊ก ข้าวมันไก่ ทางอาจารย์อมรา โพธิยา ให้ไปสอบเป็นอาจารย์อัตราจ้างไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชชนครินทร์ 2 ปีกว่า พี่ที่ช่อง 7 ถามหายเบื่อหรือยัง ก็เลยได้กลับมาทำข่าวอีกครั้ง”
นักข่าวไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ แต่ต้องทำหน้าที่เหมือนกระจกเงาในการเพิ่มปัญญาให้สังคม สำคัญอย่าปล่อยให้นักการเมืองโกหกผ่านสื่อโดยไม่หาความจริง...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น