สุทธิคุณ กองทอง หนุ่ม

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

‘ผู้สื่อสารเรื่องราวธรรมชาติสู่เมือง’ นิยามตัวตนหมอรักษาสัตว์ป่าคนแรกของไทย นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน



นิตยสาร WhO?

เรื่อง สุทธิคุณ กองทอง ภาพ ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์ แต่งหน้า บัณฑิต บุญมี


‘ผู้สื่อสารเรื่องราวธรรมชาติสู่เมือง’
นิยามตัวตนหมอรักษาสัตว์ป่าคนแรกของไทย
นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน


ภายใต้ท้องฟ้าสีครามบนผืนป่ากว้างทั่วประเทศ คือห้องทำงานที่เขาใช้ช่วยชีวิตสัตว์ป่าให้อยู่รอดปลอดภัยจากเงื้อมมือมนุษย์ ภารกิจสำคัญ ซึ่งหมอหนุ่มหวังจะผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติในสภา

จากนักกีฬาบาสเกตบอลตัวแทนระดับจังหวัด ผันตัวเองมาเรียนคณะสัตวแพทย์เพื่อลบคำปรามาสของเพื่อนๆ ในที่สุดเขาก็เดินตามฝันได้สำเร็จ เริ่มต้นจากเป็นหมอช้างของกรมปศุสัตว์ที่บ้านเกิด กระทั่งเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวุฒิสภา และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายสัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกของประเทศไทย ประจำกรมปศุสัตว์ สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ จ.สุรินทร์ นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต พูดคุยถึงภารกิจพิทักษ์ชีวิตสัตว์ป่าของเขาให้เราฟัง
// เดินตามรอยไอดอล
นายสัตวแพทย์หนุ่มวัย 28 ปี เริ่มต้นเล่าประวัติชีวิตของตัวเองซึ่งเกิดและเติบโตใน จ.สุรินทร์ คุณพ่อ (พ.ต.อ.เลื่อน) รับราชการตำรวจ ส่วน คุณแม่ (นิธินาถ) รับราชการที่ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จากนั้นคุณพ่อได้พาครอบครัวย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ที่ จ.นครศรีธรรมราช กระทั่งอายุ 11 ปี จึงย้ายกลับมาเรียนมัธยมศึกษาปี 2 ที่โรงเรียนสุรวิทยาคาร อ.เมือง จ.สุรินทร์ และจบปริญญาตรีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
ด้วยความเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลของโรงเรียนและเป็นตัวแทนระดับจังหวัด ทำให้เขากังวลในคำถามที่อยู่ในใจเรื่อยมาที่ว่า “หากเลือกเรียนคณะยากจะไม่มีเวลาเล่นกีฬา” แต่สุดท้ายชายหนุ่มก็เลือกเรียนสัตวแพทย์์ ท่ามกลางข้อกังขาของอาจารย์และเพื่อนๆ ที่เคยปรามาสว่า คนอย่างเขาจะเป็นหมอได้หรือ โดยเจ้าตัวให้เหตุผลที่เลือกเรียนสัตวแพทย์ว่า “เพราะสัตว์พูดไม่ได้ว่าเจ็บหรือปวดตรงไหน จึงคิดว่าการรักษาสัตว์น่าจะยากกว่าการรักษาคน
พอเรียนจบก็รู้ทันทีว่าการเรียนกับกีฬาสามารถทำควบคู่ไปด้วยกันได้ ผมเลยมีเป้าหมายว่าไม่อยากเป็นหมอ แต่ยังอยากเล่นกีฬาต่อไป (ยิ้ม) ถ้าวันหนึ่งร่างกายไม่ไหวแล้วก็ยังมีวิชาชีพสัตวแพทย์ติดตัวอยู่ เลยอยากทุ่มเทให้กับกีฬาที่เราหวังไว้” เขาเผยความตั้งใจแรกที่อาจดูแปลกๆ ในสายตาคนอื่น
แต่ในที่สุดความคิดที่ว่าก็มีอันต้องล้มเลิกและทำให้เขาหันมามุ่งมั่นในการเรียนสัตวแพทย์อย่างจริงจัง เมื่อได้มาพบกับ คุณหมออลงกรณ์ มหรรณพ (นายสัตวแพทย์ ช่วยราชการ สำนักพระราชวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทุกประเภท) ซึ่งเป็นผู้ที่ให้แรงบันดาลใจในการเป็นผู้มอบชีวิตใหม่ให้กับสัตว์ และถือเป็นบุคคลต้นแบบของเขานับแต่นั้นมา
“ท่านบอกกับผมว่า ‘ล็อตเรียนจบแล้วให้กลับไปดูแลช้างที่บ้านนะ’ เพราะหมออลงกรณ์เป็นเสมือนพ่อพระที่ปางช้างของจังหวัดสุรินทร์ ควานช้างให้ความเคารพหมออลงกรณ์มาก และหมอก็เป็นไอดอลของผมด้วย” ยิ้มภูมิใจ เพราะในที่สุดหมอล็อตก็ได้กลับไปเป็นสัตวแพทย์ในสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ จังหวัดสุรินทร์ สมกับที่ไอดอลของหมอล็อตหมายมั่นตั้งใจให้เขากลับไปช่วยเหลือสัตว์อันเป็นสัญลักษณ์บ้านเกิดเมืองนอนของเขา
/// คุณหมอ…ขาลุย
หมอล็อตเล่าให้ฟังว่า สมัยเรียนทุกเทอมต้องเดินทางไปฝึกงานคนเดียวในป่า ซึ่งอยู่ในที่ห่างไกลและทุรกันดาร โดยเฉพาะปางช้างในจังหวัดลำปาง สุรินทร์ และพระนครศรีอยุธยา เพื่อที่จะได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง
“ผมแบ็กแพ็กแบบนี้ไปทั่วประเทศ เหมือนได้ท่องเที่ยวก็จริง แต่ขณะเดียวกันในป่าก็เหมือนเป็นห้องทำงานของผม ผมไปภาคใต้บ่อย โดยเฉพาะสงขลา เพราะผมพูดภาษาใต้ได้ และคุ้นเคยกับพื้นที่ด้วย ส่วนสถานที่ฝึกงานผมจะเลือกสถานที่ที่สัตวแพทย์เข้าไปไม่ถึง หรือสถานที่ทุรกันดารที่มีชาวบ้านเลี้ยงสัตว์มาก แต่ไม่ได้ดูแลสัตว์เท่าที่ควร พอไปถึงก็จะบอกกับผู้ใหญ่บ้านว่า เป็นนักศึกษาแพทย์มาฝึกงาน ถ้าลูกบ้านมีหมา วัว ควายบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยให้มาบอกได้ เพราะผมมียาจากกรมปศุสัตว์มาช่วยรักษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” เขาเล่ายิ้มๆ พลางบอกว่า ความที่ช่วยรักษาสัตว์ฟรีจึงทำให้ชาวบ้านนำสัตว์มาให้รักษาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หมอหนุ่มอย่างเขากลายเป็นขวัญใจผู้เฒ่าผู้แก่ไปในที่สุด
ปัจจุบันนี้หมอล็อตดำรงตำแหน่งนายสัตวแพทย์ประจำส่วนศึกษาและวิจัยอุทยาน สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นอกเหนือจากหน้าที่คุ้มครองดูแล สุขภาพสัตว์ป่าแล้ว ยังรวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสัตว์ป่าด้วย 

“ภารกิจของผมไม่ใช่เพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว แต่คุ้มครองคนด้วย เพราะปัญหาสัตว์ป่าบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากคน ฉะนั้นผมต้องหาวิธีทำให้ทั้งสัตว์ป่าและคนอยู่ด้วยกันได้ ผมอยากให้คนคิดเสมอว่า ผลแห่งการกระทำของคนที่มีต่อป่าและสัตว์ป่าจะย้อนกลับมาทำให้คนเดือดร้อนเช่นกัน” อธิบายด้วยสุ้มเสียงหนักแน่นพร้อมบอกว่า การรักษาสัตว์ป่าไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่ลูกน้องที่มาช่วยงานก็เคยถูกช้างเหยียบอาการหนักปางตายมาแล้ว
ทว่ากำลังใจที่สำคัญและมีส่วนผลักดันให้เขาทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยนั้นมาจากการได้เห็นความทุ่มเทของเพื่อนร่วมงาน ชมรมหมอสัตว์ป่าที่ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสทั้ง ดร.เพ็ญศักดิ์ จักษุจินดา อดีต ส.ว.สกลนคร, ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สามารถ สุมะโนจิตราภรณ์ ผอ.ส่วนศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติ
/// สารจากป่าสู่เมือง
จนวันหนึ่งเขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราต้องรักษาช้างจนตายหรือ” เมื่อต้องประสบปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพช้าง ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของระบบการทำงานในส่วนของการจัดการและสวัสดิภาพ เพราะหากต้องตามรักษาช้างอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็เท่ากับว่าต้องทำงานจนตาย แต่ในที่สุดปัญหาของช้างก็มีผู้เห็นความสำคัญ โดย ดร.เพ็ญศักดิ์ จักษุจินดา คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ในขณะนั้น ได้ให้ความสนใจเรื่องปัญหาช้างทั่วประเทศ จึงเชื้อเชิญหมอล็อตให้มาร่วมเป็นคณะทำงาน ในฐานะผู้ชำนาญการของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
“ผมตื่นเต้นมากที่ได้รับเกียรตินี้ เพราะทำงานไม่ถึงปี ประสบการณ์ก็ยังน้อย แต่ผู้ใหญ่ในที่ประชุมบอกว่า เขาไม่สนหรอกว่าหมอล็อตอายุเท่าไหร่ จะมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ มากน้อยแค่ไหน รู้เพียงว่าหมอล็อตมีความรู้ด้านวิชาชีพโดยตรง คือ สัตวแพทย์บนพื้นฐานคุณธรรมและจริยธรรม เพียงเท่านี้ก็เริ่มงานที่ปลายหอกได้ ไม่จำเป็นต้องเริ่มงานที่ด้ามหอกเสมอไป” เขาเปรียบเทียบการทำงานที่ต้องแก้ไขตรงไปที่ต้นตอของปัญหา
ผู้ใหญ่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ทำงานอย่างมุ่งมั่น แต่ความที่อุปนิสัยส่วนตัวไม่ชอบอยู่ท่ามกลางป่าคอนกรีต หมอล็อตจึงขอลาออกจากตำแหน่ง ประจวบกับคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวหมดวาระพอดี แต่ในขณะเดียวกันทางวุฒิสภาก็ต้องการสานต่อโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่า เขาจึงคิดริเริ่มโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่เจ็บป่วย ไม่มีสัตวแพทย์เข้าไปรักษา โดย สุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น เห็นชอบในหลักการว่า กรมป่าไม้และกรมอุทยานควรจะมีสัตวแพทย์เข้ามาดูแลสัตว์ป่า จึงแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่ง “นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า หรือ Wildlife Veteririan” คนแรกของประเทศ
“ตอนนั้นเคว้งมาก เพราะเราไม่มีตำราอ้างอิง ไม่มีหลักการทำงานที่ชัดเจน ไม่เหมือนต่างประเทศที่เป็นป่าโล่ง สามารถขับรถเข้าไปรักษาสัตว์ได้ แต่บ้านเราป่าทึบ เดินทางเข้าไปก็ลำบาก จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้ต้องคิดหนักมาก พอดีผมมีเพื่อนที่เป็นสัตวแพทย์ที่ได้ร่วมกันทำงานและถ่ายทอดประสบการณ์เกือบสิบปีเป็นบันทึกจนทำเป็นตำรามา 1 เล่ม เพื่อใช้เป็นคู่มือการเรียนการสอนกับนักศึกษาสัตวแพทย์รุ่นใหม่ ซึ่งสมัยก่อนเน้นการอนุรักษ์มากกว่าการรักษา เพราะเขาเห็นว่าการล้มตายของสัตว์ป่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่วันนี้มันไม่ใช่ สัตว์ป่าบาดเจ็บก็มาจากคน” ที่สำคัญในอนาคต สัตวแพทย์หนุ่มคนนี้มุ่งมั่นหวังจะให้การรักษาสัตว์ป่าเป็นระบบสากล และตั้งใจจะเข้าไปผลักดันกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า ในฐานะนักการเมืองอีกไม่ช้าไม่นานนี้แน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น